ยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับโลกที่มีความซับซ้อน

ในอดีต โลกมีความซับซ้อนน้อย กล่าวคือ มีความหลากหลายและการพึ่งพาอาศัยกันน้อย เพราะประชากรยังมีไม่มาก ความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ โลกยังไม่เชื่อมโยงกันมากนัก เทคโนโลยีสารสนเทศยังไม่พัฒนาทำให้ข้อมูลเดินทางช้า นวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นน้อย การเคลื่อนย้ายทุนต่างๆ ยังไม่เสรี และการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศไม่รุนแรง

ในโลกที่ไม่ซับซ้อน ยุทธศาสตร์การพัฒนาบางประการของรัฐยังคงใช้ได้ผล เช่น การรวมศูนย์พัฒนาและการตัดสินใจจากส่วนกลาง (Centralization) การที่ภาครัฐเป็นแกนนำในการพัฒนา (Public sector – led development) การใช้นโยบายเดียวกับคนทุกกลุ่ม (One-size-fits-all strategy) หรือการกำหนดนโยบายจากมุมมองภายในประเทศ (Inward Looking Strategy)

แต่ทว่า ในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแบบดั้งเดิมอาจไม่มีประสิทธิผล เพราะความซับซ้อนนี้เรียกร้องให้ภาครัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงของโลก

ผมจึงมีข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐ ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิผล ดังต่อไปนี้

  1. วางยุทธศาสตร์ที่ง่ายและชัดเจน (Simplification Strategy)

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ง่ายและชัดเจน จะช่วยลดปัจจัยที่ไม่แน่นอนและทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถคาดการณ์และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง การกำหนดเป็นกฎเกณฑ์แทนการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ เช่น ผมขอเสนอการกำหนดเวลาในการให้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ต้องเสร็จภายใน 30 นาที การนำกระเป๋าออกจากสนามบินต้องเสร็จภายใน 15 นาที เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่โลกมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น และมีทางเลือกของเป้าหมายและปัจจัยในการพัฒนาเป็นจำนวนมาก ภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญและเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน ดังที่ ‘Dr. Dan Can Do Strategy’s Law’ ได้ระบุไว้ว่า ให้ค้นหาปัจจัยร้อยละ 1 ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ร้อยละ 50

ยกตัวอย่าง การที่ประเทศต่างๆ หันมาเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี (bilateral) มากขึ้น เพราะการเจรจาแบบพหุภาคี (multilateral) ทำได้ยาก ซับซ้อนมากกว่า และประสบความสำเร็จยากกว่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเลือกเจรจากับประเทศที่สร้างผลกระทบทางบวกให้กับประเทศมากที่สุดก่อน เพื่อจะเห็นผลลัพธ์ทางการค้าเกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของผลลัพธ์จากการเจรจาแบบพหุภาคี

  1. วางยุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างความร่วมมือ (Collaboration Strategy)

เมื่อประชากรมีจำนวนมากขึ้น สังคมมีความหลากหลายมากขึ้น และมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาคกิจต่างๆ ในสังคม ตามแนวคิดที่ผมได้เสนอไว้ คือ ‘โมเดลตรีกิจ: ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน’

ความร่วมมือจะช่วยก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากร กล่าวคือ แทนที่จะใช้ทรัพยากรจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่สามารถใช้ทรัพยากรจากภาคธุรกิจและภาคประชากิจได้ด้วย เช่น การวางนโยบายหรือโครงการจากภาครัฐ และขอเงินลงทุนจากภาคเอกชน ขอกำลังคนจากภาคประชากิจ เป็นต้น นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือยังเป็นการเพิ่มทางเลือกเชิงนโยบายและช่วยลดแรงต้านในการดำเนินนโยบายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชากิจ โดยความรับผิดชอบหลักเป็นของภาครัฐ และความรับผิดชอบรองเป็นของภาคธุรกิจ และภาคประชากิจ โดยที่ทั้งสามภาคกิจควรประสานงาน และร่วมกันทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ยกตัวอย่าง ภาครัฐควรวางแผนและมอบหมายประเด็นในการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างเจาะจงให้ภาคธุรกิจและภาคประชากิจ แทนที่จะปล่อยให้การทำ CSR ของเอกชนนั้นกระจัดกระจาย สะเปะสะปะ คนละทิศทางและขาดพลัง เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญ ภาครัฐควรมอบหมายงานตามความถนัด และงานแก้ไขปัญหาสังคมใดที่ภาครัฐไม่ถนัด ควรมอบหมายให้ภาคธุรกิจและภาคประชากิจที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการแทน วิธีนี้จะช่วยให้การพัฒนาถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้น

  1. วางยุทธศาสตร์ที่เน้นการกระจายอำนาจ (Decentralization Strategy)

การคาดการณ์ผลลัพธ์ในโลกที่ซับซ้อนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา คือ มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้สิ่งที่ดีสามารถเกิดขึ้น แทนที่จะใช้วิธีบังคับหรือแทรกแซง เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้

ยกตัวอย่างการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร โดยให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น หลายประเทศในยุโรป แคนาดา และบางรัฐในสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติว่า “ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุยาวนาน แม้ว่าจะอยู่ในที่ดินของเอกชน แต่ถือว่าเป็นสมบัติของสาธารณะ เพราะถือว่าต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ผลิตอากาศแก่คนส่วนรวม หากเจ้าของที่ดินจะรื้อถอนหรือปรับปรุง ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาคมบริเวณนั้นด้วย”

  1. วางยุทธศาสตร์เชิงดิจิทัล (Digitalization Strategy)

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินการจะช่วยจัดการกับความซับซ้อนได้ดี เพราะช่วยลดจำนวนผู้ปฏิบัติงาน มีแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ และช่วยลดงบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้ในการดำเนินงานลงได้

ดังตัวอย่าง การพัฒนา e-government ในเอสโตเนีย ซึ่งผมได้นำนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ รุ่นที่ 1 ไปดูงาน เอสโตเนียมีการลงทุนด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2000 ได้แก่ ภาษีออนไลน์ (E-Tax Board) บริการจอดรถผ่านออนไลน์ (E-Parking) และเริ่มทำทางเชื่อมข้อมูลภาครัฐ (X-Road) เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในเอสโตเนียเข้าด้วยกัน

ปัจจุบัน ภาครัฐของเอสโตเนียให้บริการผ่านระบบออนไลน์ถึงร้อยละ 99 ธุรกรรมธนาคารอยู่ในระบบบล็อกเชนร้อยละ 99.8 รวมไปถึงการเลือกตั้งออนไลน์ (e-Voting) และการออกบัตรประชาชนฝังชิพเก็บข้อมูลประจำตัวผู้ถือบัตร (e-Identity) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ทุกอย่าง และมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เสริมความปลอดภัยทำให้การจารกรรมข้อมูลทำได้ยาก

  1. วางยุทธศาสตร์จากมุมมองภายนอก (Outward Looking Strategy)

การใช้ประโยชน์จากการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศ และลดผลกระทบที่ประเทศจะได้รับ ผู้นำภาครัฐต้องตระหนักว่า เราต้องพยายามเป็นฝ่ายริเริ่มในเวทีระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นผู้นำในการกำหนดวาระที่ประเทศจะได้ประโยชน์ หรือ ที่ผมสร้างศัพท์ว่า context maker มากกว่าที่จะเป็นผู้ตาม หรือ context taker รวมไปถึง การเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดกับประเทศของตน

โลกมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากความแตกต่างหลากหลาย การพึ่งพาอาศัยกัน และพลวัตรที่มีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องการยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสมกับโลกที่ซับซ้อน ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ผมได้กล่าวถึงนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น

ผมเชื่อว่าความสำเร็จเป็นส่วนผสมของการคิดยุทธศาสตร์ที่ดี รอบคอบ และการพิจารณาช่วงเวลาปฏิบัติที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันเวลา แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การมียุทธศาสตร์ที่ดี คือ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.