แนวคิดประสิทธิการ : ฮาร์วาร์ดทำสิ่งที่เป็นแก่นสาระ มีคุณค่าสูงสุด

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็นแต่ละยุทธศาสตร์ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิการ (Excellence) หรือยุทธศาสตร์การบริหารการดำเนินงานด้วยกระบวนการที่ดีเลิศ อันเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

ประสิทธิการเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอันเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “การ” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า การ หมายความถึง งาน สิ่งหรือเรื่องที่ทำ เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายถึง การมีกระบวนการที่ดีเลิศ ทำทุกขั้นตอนดีที่สุด ตามมาตรฐาน และความถูกต้องตามหลักสากล นำส่วนที่ดีที่สุดของสากลมาเป็นต้นแบบการพัฒนา

ประสิทธิการเป็นยุทธศาสตร์การบริหารกระบวนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลช่วยให้ไม่ต้องลองผิดลองถูก เริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถนำต้นแบบสากลมาเรียนรู้ พัฒนาต่อยอด และสร้างประโยชน์ได้เลยทันที

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิการของผมดังกล่าวนี้หลายกรณีด้วยกัน ขณะเดียวกันฮาร์วาร์ดเองยังสามารถเป็นเกณฑ์มาตรฐาน กรณีศึกษาและต้นแบบให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น ในการนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างบางส่วนของฮาร์วาร์ดที่สะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิการดังกล่าวนี้ของผม เช่น การประยุกต์ดัชนีชี้วัดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็นตัวเทียบเคียงการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยผลการจัดอันดับของแต่ละสำนักการจัดอันดับพบว่า ฮาร์วาร์ดจัดอยู่อันดับต้นทุกรายการสามารถเป็นกรณีศึกษาและต้นแบบให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างประโยชน์ได้ โดยในที่นี้ข้อมูลผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Quacquarelli Symonds หรือ QS ล่าสุด ปี ค.ศ. 2017 ระบุ ฮาร์วาร์ดถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ทางด้านสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและแพทย์ศาสตร์ (Life Sciences and Medicine) และสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และการจัดการ (Social Sciences and Management)

นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวด้วยเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุว่า ฮาร์วาร์ดผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว (LEED Certified Building) จากสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council) เป็นจำนวนกว่า 115 โครงการ มากกว่าสถาบันอุดมศึกษาอื่นใดในโลก

ยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิการดังกล่าวนี้จะส่งผลช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานกระบวนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เทียบเคียงมาตรฐานสากลมากขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่โลกทั้งโลกมีการเชื่อมถึงกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิการมีพลังและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันแม้ว่ามหาวิทยาลัยไทยของเราจะพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก แต่การพัฒนาคุณภาพดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและต้องเทียบเคียงกับมาตรฐานที่ดีเลิศ เป้าหมายพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีกระบวนการที่ดีเลิศยอดเยี่ยม มีความถูกต้องตามหลักสากล และสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน องค์กรอื่นต่อไป ครับ

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ 29 – พฤหัสบดี 5 ตุลาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.