ดร. แดน เสนอ ?สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่? ฮาร์วาร์ดชี้การมีส่วนร่วมของครอบครัวเพิ่มผลสำเร็จการศึกษาและเรียนรู้ของผู้เรียน

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและการสร้างผลกระทบองค์ความรู้สู่สังคม มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการความรู้ และการเชื่อมต่อองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริง ในที่นี้รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับการสนับสนุนของครอบครัวต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน โดยฮาร์วาร์ดมีส่วนร่วมขับเคลื่อนผลักดันประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจังตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ตัวอย่าง เดือนมีนาคม ค.ศ.  2017 ฮาร์วาร์ดจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประเด็นการมีส่วนร่วมของครอบครัว กับการพัฒนาองค์กรและผลลัพธ์ของเด็กนักเรียน การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวนี้มีนักการศึกษาแบบนอกเวลาเรียนจากบอสตันและเคมบริดจ์เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 25 คน โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาฮาร์วาร์ด (Graduate School of Education) เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประชุม (News from Harvard schools, offices, and affiliates, 2017) นอกจากนี้ ประเด็นที่ว่านี้ยังถูกบรรจุเป็นวิชาหนึ่งของหลักสูตรออนไลน์ที่เรียกว่า EdX ภายใต้หัวข้อ การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการศึกษาเบื้องต้น (Introduction to Family Engagement in Education) เปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (EdX, n.d. 2017)

การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในกลุ่มผู้เรียนของฮาร์วาร์ด ยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวที่มีผลต่อการพัฒนาปรับปรุงผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน หากการมีส่วนร่วมระหว่างกันดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลสำเร็จหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น

การพัฒนาองค์ความรู้และการให้บริการวิชาการดังกล่าวของฮาร์วาร์ด นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมระดับโลกที่สนใจในประเด็นดังกล่าวนี้ อันถือเป็นภารกิจสำคัญของฮาร์วาร์ดที่ต้องการจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในระดับโลก

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ผมเคยเสนอให้มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมพัฒนาสถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ (Institute of Parenting Science)[1] (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2543, น. 40-41) ให้เป็นสถาบันต้นแบบของการสร้างพ่อแม่ที่พึงประสงค์ โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกคู่สำหรับคนโสดที่ยังไม่ได้แต่งงานจนถึงการมีครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นคนคุณภาพมากที่สุดในศักยภาพที่มี ตามโมเดล KSL 31220 (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559, น. 31)   ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) 3 มิติ คือ รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 200-201) ทักษะ (Skills) อย่างน้อย 12 หมวด คือ การคิด 10 มิติ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การสื่อสาร ทักษะภาษาต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยี การสร้างเครือข่าย การประกอบการ การจัดการ การเป็นผู้นำ การจัดระบบ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และลักษณะชีวิต 20 ประการ คือ การมีวิสัยทัศน์ ซื่อสัตย์ รักษาคำพูด มีวินัย เอาจริงเอาจัง อดทน ทำดีเลิศ ไวต่อความรู้สึก มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ขยัน บังคับตน เที่ยงธรรม รับผิดชอบ แง่บวก ยุติธรรม กล้าหาญ เสียสละ เรียนรู้ รอบคอบ และถ่อมใจ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2538 และ 2539) สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่ว่า “สร้างศักยภาพพ่อแม่เพื่อสร้างศักยภาพลูก” โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมและสกัดวิทยาการองค์ความรู้ที่ดีที่สุดให้แก่พ่อแม่  เพื่อช่วยพ่อแม่มิต้องลองผิดลองถูกในการเลี้ยงดูลูก[2]

ฮาร์วาร์ดก็เห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประเด็นการมีส่วนร่วมของครอบครัว กับการพัฒนาองค์กรและผลลัพธ์ของเด็กนักเรียน และยังบรรจุประเด็นนี้เป็นวิชาหนึ่งของหลักสูตรออนไลน์ที่เรียกว่า EdX ดังที่นำเสนอข้างต้น ดังนั้นการเชื่อมต่อพ่อแม่ให้มีส่วนในการพัฒนาบุตรหลาน อันจะมีส่วนในการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศชาติสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2538). ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 1. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.

________. (2539). ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 2. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.

________. (2541). คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ซัคเซส

มีเดีย.

________. (2543). ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.

________. (2559, 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม). โมเดล KSL 31220 เทียบกับคุณภาพการสอนการเรียนรู้

ของฮาร์วาร์ด, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 63(24), 31.

EdX. (n.d.). Retrieved from https://www.edx.org

Harvard Ed Portal. (n.d.). Retrieved from https://edportal.harvard.edu

News from Harvard schools, offices, and affiliates. (2017, March 20). Exploring family

engagement in out-of-school time settings. Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/exploring-family-engagement-in-out-of-school-time-settings/

 


[1] เดิมใช้คำว่า สถาบันฝึกอบรมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก โรงเรียนพ่อแม่ และพัฒนาเป็นสถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ในที่สุด นำเสนอครั้งแรกในหนังสือ ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา และนำเสนออีกครั้งในรายการ รักเมืองไทย ทางสถานีโทรทัศน์ TNN2 (True Vision 784 ตอน สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ IPS) วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560.

 

 

 

 

 

 

[2] นำเสนอในรายการ รักเมืองไทย ทางสถานีโทรทัศน์ TNN2 (True Vision 784 ตอน สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ IPS).

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ 19  – พฤหัสบดี 25 พฤษภาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ http://bit.ly/2qzW235

Leave a Reply

Your email address will not be published.