ยุทธศาสตร์บริหาร ‘8E โมเดล E5 ประสิทธิสาร’

บทความตอนนี้ ผมจึงขอนำเสนอ “ยุทธศาสตร์การบริหารเพื่อผลลัพธ์ที่เลอค่า (Outdo Management Strategy)” หรือที่ผมเรียกว่าการบริหารอย่างมี “ประสิทธิสาร (Esthetic-Worthiness)”

ผมสร้างคำว่า “ประสิทธิสาร” ขึ้นมาจาก 2 คำ คือ ประสิทธิ+สาระ โดยคำว่า “สาระ” มาจากคำว่า “ผลสาร” อันหมายถึง แก่นสาระของผลที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เป็นแก่นสาร เป็นประโยชน์ และเมื่อรวมกับคำว่า “ประสิทธิ” แล้ว จึงหมายความว่า การทำให้สิ่งที่เป็นแก่นสาระหรือมีประโยชน์สำเร็จ ทั้งนี้สิ่งที่เป็นแก่นสาร จะต้องมีคุณค่าสูงสุดท่ามกลางสิ่งที่มีคุณค่าทั้งหลาย ซึ่งผมเรียกสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดนี้ว่า “เลอค่า”

การบริหารอย่างมี “ประสิทธิสาร” คือ การบริหารบนแก่นสาระที่เลอค่า ยิ่งบริหารได้ผลลัพธ์ที่เลอค่า ยิ่งได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์บริหาร เป้าหมายหนึ่งของการบริหารที่ผู้บริหารทุกคนควรไปถึง คือ การก้าวสู่การบริหารผลลัพธ์ที่เลอค่าในสังคมและประเทศ โดยเฉพาะผู้นำที่ต้องบริหารประเทศและทุกองค์กรควรเลือกทำสิ่งที่เลอค่าหรือสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดก่อนเสมอ

ตัวอย่างการบริหารที่จะนำไปสู่บริหารเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เลอค่า เช่น การคำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment-SROI) แทนการคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนจะพิจารณาที่ตัวเงิน หรือ “มูลค่า” เป็นหลัก โดยจะมุ่งเน้นลงทุนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดเท่านั้น

ขณะที่ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน จะนำผลลัพธ์ด้านสังคมในด้านต่างๆ มาคำนวณหา “มูลค่าเป็นตัวเงิน” แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้เพื่อพิจารณาว่า กิจการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไรต่อเงิน 1 บาทที่ลงทุนไป ทั้งนี้การประเมิน SROI จะทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าโครงการใด คือ โครงการที่เลอค่า หรือมีคุณค่า (ทางสังคม) สูงที่สุด

โครงการ Craft Café เป็นโครงการนำร่องใช้ศิลปะมาช่วยลดความแยกตัวและความเหงาของผู้สูงอายุ โดยช่วยให้สามารถรับมือในทางสร้างสรรค์กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โครงการนี้ได้มีการนำ SROI เข้ามาประเมิน พบว่า โครงการนี้สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมได้ 8.27 ปอนด์ ต่อการลงทุน 1 ปอนด์ นอกจากนี้ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในกรณีต่างๆ พบว่า ถ้าจำนวนคนในครอบครัวที่ได้รับประโยชน์เพิ่มจาก 1 คนเป็น 2 คน จะทำให้ได้ผลตอบแทนทางสังคมเพิ่มขึ้นจาก 8.27 ปอนด์ เป็น 9.57 ปอนด์ ต่อการลงทุน 1 ปอนด์เลยทีเดียว ดังนั้นถ้าโครงการนี้จะบริหารให้เกิดผลลัพธ์ที่เลอค่า จะต้องทำให้คนในครอบครัวได้ประโยชน์มากกว่า 1 คน

การบริหารโครงการโดยใช้คำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนไม่ได้มีเฉพาะที่ต่างประเทศเท่านั้น ไทยมีโครงการที่ใช้การประเมิน SROI เช่นกัน อาทิ โครงการควบคุมการสูบบุหรี่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ลงทุนกับโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2544-2554 ด้วยเงินลงทุน 1.43 พันล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 2.99 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นผลตอบแทนทางสังคม 18 บาทจากการลงทุน 1 บาท

อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ สสส. ใช้เงินลงทุนไป 1.454 พันล้านบาท ตั้งแต่ปี 2544-2554 มูลค่าของผลตอบแทนจากโครงการนี้สูงถึง 3.79 แสนล้านบาท (โครงการนี้ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงกว่า 66,614 กรณี ซึ่งผู้เสียชีวิต 1 คน จะคิดเป็นต้นทุนประมาณ 5.7 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลตอบแทนทางสังคมถึง 130 บาท ต่อการลงทุน 1 บาท

นอกจากนี้ ผมจะขอยกบางประเด็นที่สะท้อนการดำเนินการที่ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เลอค่า เช่น การบริหารโลจิสติกส์ของไทย กล่าวคือ

(1) ประเทศไทยมองข้ามการเป็นศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาค แต่มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกับประเทศสูงที่สุด หากเรากำหนดจุดยืนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้า เหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกง จะสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมโลจิสติกส์ได้มากกว่า แม้เป้าหมายไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งและขนถ่ายสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาคล้วนดี แต่ภาครัฐควรเลือกเป้าหมายที่มีคุณค่าสูงกว่า

(2) การพัฒนาโลจิสติกส์โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก มากกว่าการพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ เป้าหมายการยกระดับโลจิสติกส์ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีคุณค่าและเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อาจจะไม่เลอค่า การพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาตนเองและองค์กรให้มีต้นทุนการให้บริการโลจิสติกส์ที่สามารถแข่งขันได้ จะใช้งบประมาณน้อยกว่า (นำงบไปทำอย่างอื่นได้เพิ่มขึ้น) และจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตโดยตรงและในระยะยาวมากกว่า นั่นคือ การพัฒนาคน เพิ่มผลิตภาพและเพิ่มรายได้

สำหรับเรื่องคุณค่าและความเลอค่ามีเส้นบางๆ กั้นอยู่ สิ่งสำคัญ คือ การแยกแยะโดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ดีแท้ งามแท้ จริงแท้เป็นหลัก เมื่อยึดผลประโยชน์ส่วนรวมที่อารยะแล้ว จะทำให้เห็นสิ่งที่เลอค่าง่ายขึ้น
 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2016/08/08/j798j996e6fdjabeedcbe.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.