4 คำถาม จาก ดร.แดน เพื่อหยุดวงจรโควิดก่อน 2 ปี

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

เราต้องอยู่กับวงจรโควิด-19 ราว 2 ปี นั่นคือ อีกนานราว 18 เดือน หรือจนกว่าการพัฒนาวัคซีนจะสำเร็จ …

ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน

ในมุมมองของผม ระหว่างที่รอการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและใช้ได้ทั่วโลก เราจำเป็นต้องยอมคลายการล็อกดาวน์ ให้คนในสังคมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติให้มากที่สุด ตราบไม่ทำให้การระบาดรุนแรงอีก โดยมุ่งให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เคยหยุดต้องเริ่มเปิดให้ดำเนินต่อไปได้บ้าง การรณรงค์ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ไม่สามารถทำได้หลาย ๆ เดือน เพราะเศรษฐกิจจะเสียหายหนักเกินกว่าจะให้คนส่วนใหญ่อยู่รอดได้

คำถาม คือ ในระหว่างที่รอวัคซีน เราจะอยู่อย่างไรจึงปลอดภัยจากโควิด และใช้ชีวิตอย่างปกติได้มากที่สุด?

ผมคิดว่า ถ้าเราสามารถหาคำตอบ ให้กับ 4 คำถามในประเด็นสำคัญต่อไปนี้ จะช่วยให้เราอยู่อย่างปลอดภัยจากโควิด และใช้ชีวิตอย่างปกติได้มากขึ้น


คำถามที่หนึ่ง ชุดทดสอบโควิด-19 (Test Kit) – เราสามารถผลิตชุดทดสอบโควิด ที่ง่าย สะดวก ได้ผลตรวจรวดเร็ว แม่นยำ ราคาถูก และตรวจเองได้หรือไม่?


ปัจจุบัน แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจเชื้อผู้ที่เข้าข่ายและยืนยันผู้ป่วย ประชาชนยังไม่สามารถหาซื้อมาตรวจเองได้ เพราะชุดทดสอบเร็ว (Rapid Test Kit) ที่มีจำหน่ายอยู่นั้น มีข้อจำกัดสำคัญ คือ จะตรวจพบเชื้อ เฉพาะคนที่เริ่มมีอาการหรือได้รับเชื้อมาหลายวัน แต่คนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะตรวจไม่พบ ซึ่งจะกลายเป็นพาหะได้


การที่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ตรวจ ย่อมมีความจำกัด ไม่สามารถตรวจได้อย่างทั่วถึง และหากคลายข้อจำกัด ใช้ชีวิตอย่างปกติแล้ว ย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่ได้ เพราะไม่สามารถเฝ้าระวังหรือตรวจวินิจฉัยได้ทันเวลาและอย่างทั่วถึง


ผมขอเสนอว่า เราไม่ควรรอเครื่องมือทดสอบจากต่างชาติ แต่เราควรเร่งพัฒนาด้วยสมองของคนไทยเองผลิตชุดทดสอบไวรัสเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพ รู้ก่อนมีอาการไข้ มีความแม่นยำ รวดเร็ว มีราคาถูก ประชาชนตรวจกันเองได้ หรือให้ อสม.ตรวจประชาชนในชุมชนเป็นระยะและจดบันทึกไว้ หรือในแต่ละองค์กร ตรวจพนักงานทุกคนเป็นระยะและจดบันทึกไว้ โดยทุกคนจะต้องตรวจและบันทึกไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐาน เมื่อเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19


ชุดทดสอบโควิดที่ตรวจง่าย รู้ผลเร็ว แม่นยำ ราคาถูก และตรวจได้อย่างกว้างขวาง จะเป็นระบบป้องกันที่สร้างความมั่นใจว่า โอกาสการแพร่ระบาดในวงกว้างจะไม่เกิดขึ้น
ผมอยากเสนอรัฐบาล ตั้งรางวัลสัก 100 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานวิจัยไวรัสโควิด-19 ตัวแม่ แข่งกันคิดวิจัยและผลิตชุดทดสอบได้ตามที่กำหนด ทดสอบเองได้แบบง่าย ๆ (Generic Covid-19 DIY Test Kit) เช่น ทดสอบจากใช้น้ำลาย หรือเส้นผม ฯลฯ เมื่อคิดค้นได้ก็ผลิตราคาถูก ผลิตจำนวนมาก และยังส่งไปขายประเทศอื่นด้วย


คำถามที่สอง ยารักษาโควิด-19 – เราสามารถผลิตยารักษาโควิด-19 ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล สำหรับไวรัสโควิด-19 ตัวแม่และทุกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์หรือยัง?


ยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบัน ในประเทศต่าง ๆ ยังใช้ยารักษาโรคที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศไทย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ใช้ยาอาวิแกน (Avigan) หรือยาฟาวิพิลาเวียร์ (Favipiravir) ในประเทศไทยนำมาใช้ควบกับ Lopinavir/Ritonavir ที่ใช้รักษาไวรัสเอดส์ ส่วนสหรัฐฯ ใช้ยา Remdesivir ที่พัฒนาขึ้นมาจากยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้ออีโบลา และมีการทดลองใช้ยารักษาโรคมาลาเรีย 2 ชนิดมารักษาโควิด-19 ฯลฯ


อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคโควิด-19 โดยตรง ขณะนี้มีเพียงยาฟาวิพิลาเวียร์ ที่ขึ้นทะเบียน ดังนั้น คำถามสำคัญคือ เรามียารักษาโรคไวรัสโควิด-19 ตัวแม่และทุกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แล้วหรือไม่? มียาที่สามารถรักษาได้ในทุกต้นเหตุและอาการของโรคนี้หรือไม่? และมียารักษาที่เพียงพอหากเกิดการระบาดขึ้นอีกหลายระลอกหรือไม่?


คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะสร้างความมั่นใจว่า ถ้าเกิดการระบาดขึ้นระลอกใดก็ตาม คนที่ติดเชื้อจะมั่นใจว่าไม่เป็นอันตราย เพราะมียารักษาได้อย่างเหมาะสม ทันเวลาและไม่ขาดแคลน


คำถามที่สาม วัคซีนป้องกันโควิด-19 – ถ้าพัฒนาวัคซีนได้แล้ว จะสามารถใช้ได้กับไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์หรือไม่?


ไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ จากกลุ่มโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสขนาดใหญ่ มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบดั้งเดิม เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด และทางเดินหายใจ และสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค SARS โรค MERS ซึ่งทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบแบบเฉียบพลัน และสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด คือ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
ไวรัสโคโรนา  เป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ก็มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากที่ผมขอเรียกว่า “โควิด-19 ตัวแม่” แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ได้กลายพันธุ์ทั้งหมดแล้วกี่สายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติบางท่านบอกว่า อาจเกิด 33 สายพันธุ์แล้วจากโควิด-19


ดังนั้น คำถามก็คือ ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติว่า จะนำไปสู่จุดจบของการแพร่ระบาดครั้งนี้ จะสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ในทุกสายพันธุ์หรือไม่ หรือต้องมีการเร่งพัฒนาวัคซีนหลายตัว (vaccines) พร้อม ๆ กันใน 1-2 ปีนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับไวรัสในแต่ละสายพันธุ์ จึงมั่นใจว่าจะสามารถยุติการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง

 

คำถามที่สี่ ภูมิคุ้มกันโควิด-19 – คนที่หายป่วยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้หรือไม่?

 

ปัจจุบันมีแพทย์บางส่วนกล่าวว่า เป็นที่ยอมรับว่า พลาสมาของผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเปรียบเสมือนเป็นเซรุ่มใช้รักษาโรค แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า คนที่เคยป่วยและรักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันจริงหรือไม่ หรือจะต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงมีภูมิคุ้มกัน และภูมิคุ้มกันนั้นหากมีจะอยู่นานเท่าไร และยิ่งการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยในเกาหลีใต้หลายราย ทำให้เกิดการตั้งคำถามและการหาคำตอบอย่างจริงจังว่า ตกลงแล้ว ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เองหรือไม่?


ถ้าไม่ นั่นย่อมแสดงว่า จะเกิดความเสี่ยงมากหากปล่อยให้เกิดการระบาด ด้วยหวังให้เกิด Herd Immunity เมื่อมีผู้คนติดเชื้อจำนวนมาก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้ เพราะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจะต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเท่าไร และไม่มั่นใจว่าประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเองได้


ดังนั้น ทางที่เราจะปลอดภัย ไม่กลับเป็นซ้ำ ในช่วงเวลาการรอคอยวัคซีน คือ การลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ การลดระยะห่างทางกายภาพ การตรวจสอบป้องกันตนเอง การล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อย ๆ ต่อเนื่อง การไม่รวมกลุ่มคนจำนวนมากแบบไม่ป้องกันตน ฯลฯ

การตอบคำถามเหล่านี้ จะช่วยให้เรามองเห็นภาพว่า ในช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอยชุดทดสอบ “Generic Covid-19 DIY Test Kit” รอคอยวัคซีน และรอคอยยารักษาโควิด-19 เราควรใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย ทั้งจากไวรัสโควิด-19 และจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป…

Leave a Reply

Your email address will not be published.