2050 ฮาร์วาร์ดตั้งเป้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นศูนย์

การจัดการศึกษาทุกระดับควรมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมจัดการกับประเด็นปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานภารกิจทางการศึกษา เช่น การสร้างคน การสร้างองค์ความรู้ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพชั้นสูง ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง พัฒนาตนเองสู่การเป็นต้นแบบหรือเป็นผู้นำทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่ดีในด้านจัดการประเด็นปัญหาสังคม เช่น การสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เรียน การเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือแต่ละภาคส่วน  เป็นต้น

ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Environment and Sustainability) เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาสังคมที่สำคัญที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วทั้งโลก อันเป็นผลมาจากการตระหนักถึงผลกระทบของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ  ภาวะโลกร้อน ฯลฯ ความสนใจในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนดังกล่าวไหลลงสู่ภาคการศึกษา และมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการปรับตัวให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้มากขึ้น

ฮาร์วาร์ดเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดฮาร์วาร์ดได้วาดวิสัยทัศน์และตั้งเป้าหมายต้องการให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ภายในมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ (fossil fuel – free) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีกประมาณ 32 ปีข้างหน้า พร้อมกับการวางเป้าหมายระยะสั้นให้มีกิจกรรมชดเชยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในมหาวิทยาลัย ภายใน ปี ค.ศ. 2026[1] วิสัยทัศน์และเป้าหมายดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าฮาร์วาร์ดวางตำแหน่งของตนเองเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างจริงจัง

ภาคปฏิบัติของการขับเคลื่อนเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ มีแนวทางการดำเนินการหลากหลาย ประกอบด้วย

  • การซื้อกระแสไฟฟ้าของจากแหล่งที่สะอาด
  • การใช้พลังงานจากทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดสิ้นที่ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม
  • การใช้และควบคุมระบบพลังงานรวมศูนย์ ให้ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • การบริหารจัดการยานพาหนะของฮาร์วาร์ดให้ปราศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • การกำหนดเป้าหมายการซื้อบริการจากภายนอกหรือกิจกรรมที่อาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึง
  • การขับเคลื่อนให้บรรลุสู่เป้าหมายระยะสั้นอย่างเต็มกำลัง[2] ทั้งนี้ฮาร์วาร์ดคาดหวังว่าด้วยวิธีการดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้บรรลุสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในอนาคต

กรณีประเทศไทย ปัจจุบันมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกันมากขึ้น มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญคือ การเชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติ การเป็นแบบอย่างหรือการเป็นต้นแบบทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง  มหาวิทยาลัยควรพัฒนาตนเองสู่การเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุด (Best Practice) ในประเด็นดังกล่าวนี้ให้สังคมศึกษาเรียนรู้ อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง

 

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/02/harvard-makes-climate-pledge-to-end-fossil-fuel-use/

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://green.harvard.edu/campaign/harvards-climate-action-plan

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ 25 – พฤหัสบดี 31 พฤษภาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.