20110716 usp001

โครงการแสตมป์อาหาร : สวัสดิการด้านอาหารสำหรับประชาชนอเมริกัน

20110716 usp001กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ภายหลังการประกาศสงครามกับความยากจนของประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐฯ ลินดอน บี จอห์นสัน ในปี 1964 เห็นได้ชัดว่าปัญหาเรื่องความยากจนของคนในประเทศได้กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาล ให้ความสำคัญ ซึ่งสาเหตุสำคัญของความยากจนนั้นเกิดจากปัญหาการขาดแคลนอาหารของคนในชาติและปัญหาความยากจนได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง จากในปี 1967 สหรัฐฯ มีระดับความยากจนสูงถึงร้อยละ 26 แต่ภายหลังการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารจึงส่งผลทำให้ระดับความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2012 ระดับความยากจนของสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 โดยเป็นผลมาจากโครงการที่มีชื่อว่า โครงการแสตมป์อาหาร (Food Stamp Program) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ริเริ่มขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอห์นสัน และเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2014 ที่ผ่านมา นับเป็นวันครบรอบ 50 ปีของการประกาศสงครามกับความยากจน

บทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้ผ่านโครงการแสตมป์อาหารถึงผลในด้านบวกและลบ ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนชาวอเมริกัน มีดังนี้

ประโยชน์ของโครงการแสตมป์อาหาร

ย้อนกลับไปในช่วงกลางของทศวรรษ 1960 โครงการแสตมป์อาหาร ได้ถูกริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวอเมริกันที่มีฐานะยากจน ซึ่งต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการ โดยโครงการแสตมป์อาหาร หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า โครงการช่วยเหลือทางโภชนาการ (Supplement Nutrition Assistance Program) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง และความยากจนของประชาชนภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโครงการดังกล่าว ช่วยให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร ส่งผลทำให้ครอบครัวเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัย เซ็นเตอร์ฟอร์ อเมริกัน โพรเกรส (Center for American Progress) ในเดือน มกราคม ปี 2014 พบว่า ประชากรสหรัฐฯ กว่า 49 ล้านคน ต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นเด็กถึง 13 ล้านคน ดังนั้น การผลักดันให้มีการเพิ่มระดับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งนี้ การผลักดันของรัฐบาลผ่านโครงการแสตมป์อาหาร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จซึ่งได้ช่วยเหลือประชาชนกว่า 10 ล้านคนในประเทศให้สามารถหลุดจากความยากจนได้

ทั้งนี้ นอกจากการช่วยเหลือทางด้านอาหารของโครงการแสตมป์อาหาร โครงการดังกล่าวได้ช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นทั้งจากการจับจ่ายเพื่อซื้ออาหารของประชาชนผ่านโครงการ ตลอดจนร้านค้าที่ร่วมโครงการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นซึ่งได้ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนภายในประเทศ

ผลกระทบของโครงการแสตมป์อาหาร

1.สร้างค่านิยมการพึ่งพิงรัฐ

ถึงแม้ว่า โครงการแสตมป์อาหารจะช่วยให้ประชาชนภายในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่โครงการนี้เปรียบเสมือนดาบสองคมสำหรับสังคมอเมริกัน เพราะหากประชาชนของรัฐมีการพึ่งพาการช่วยเหลือทางด้านอาหารจากรัฐมากขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนในประเทศมีแนวโน้มจะมีค่านิยมการใช้ชีวิตแบบพึ่งพิงรัฐมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลทำให้ประชาชนในประเทศไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน โดยมุ่งเพียงรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ

ดังนั้นนโยบายแสตมป์อาหารจึงไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยม ซึ่งรัฐใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่ในระยะยาวรัฐอาจไม่มีเงินเพียงพอในการช่วยเหลือคนเหล่านี้ และประเทศอาจกลับไปสู่ปัญหาความยากจนได้อีกครั้ง

2.ผลกระทบด้านสุขภาพ

จุดประสงค์เริ่มแรกของโครงการนี้ คือเพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนชาวอเมริกันที่ยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการช่วยเหลือทางด้านอาหารจากรัฐ แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่ที่แจกจ่ายให้แก่ประชาชนนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพชาวอเมริกัน อาทิ น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น แม้ว่าโครงการนี้จะช่วยลดระดับความอดอยากของประชาชนในประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาสำหรับประชาชนเหล่านี้ คือ งบประมาณที่ต้องใช้แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนซึ่งจะเป็นภาระสำหรับรัฐในเวลาต่อมา

นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ที่ต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจากภาครัฐ แต่ผลประโยชน์จากการขายสินค้าในโครงการกลับตกอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เจพี มอร์แกน (JP Morgan) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการนี้มากที่สุด ดังนั้นโครงการแสตมป์อาหารจึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับนายทุนบางราย อีกทั้งอาจเกิดการฉวยโอกาสของคนที่เข้ารับสวัสดิการจากโครงการ ไม่ได้มีฐานะยากจนจริง

บทสรุป รัฐบาลควรเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจนภายในประเทศอย่างเป็นระบบ และควรมีนโยบายในการเพิ่มระดับความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างชัดเจน เพื่อรองรับวิกฤตขาดแคลนอาหารที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการแจกเงินหรือสิ่งของต่างๆ ให้แก่ประชาชนเท่านั้นเฉกเช่นเดียวกับนโยบายประชานิยมในประเทศไทยที่ผ่านมา แม้จะส่งผลดีต่อประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูเหมือนจะทำให้ประชาชนในประเทศมีการกินดีอยู่ดีขึ้น แต่กลับส่งผลดีเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหากประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมหรือการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐ ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจดังเช่นที่เกิดขึ้นกับบางประเทศในยูโรโซน

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com 
แหล่งที่มาของภาพ : http://3.bp.blogspot.com/-RyvJuySXdyw/TiuFdLJPIoI/AAAAAAAAAKc/J-mhKkPffyk/s400/20110716_usp001.jpg