แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 7) : NITE แรงงานของโลกอนาคต

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ 😕ดร.แดน มองต่างแดน

กลุ่มกำลังแรงงานที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่สุด คือกำลังแรงงานจากประเทศไนจีเรีย อินเดีย ตุรกี และอียิปต์ในบทความก่อนนี้ผมได้วิเคราะห์ไว้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและเมืองขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในหลายประเทศที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้หลายประเทศจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานวันทำงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ จึงก่อให้เกิดคำถามสำคัญต่อเนื่อง คือ กำลังแรงงานกลุ่มใหม่ในอนาคตจะอยู่แถบภูมิภาคใด? ประเทศอะไร? และประเทศไทยจะขาดแคลนกำลังแรงงานในปี 2050 หรือไม่? กำลังแรงงานกลุ่มใหม่จะเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร? บทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

คำว่า กำลังแรงงาน (Labor Force) ในที่นี้หมายถึง ประชากรวัยทำงานทั้งหมด ทั้งที่มีงานทำและไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงาน โดยประเทศไทยกำหนดให้กำลังแรงงานคือประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ บางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้วัยทำงาน อยู่ในช่วงอายุ 15 – 65 ปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดการสิ้นสุดวัยทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทำงานได้

เมื่อพิจารณาจากรายงาน Population Age Shifts will Reshape Global Work Force โดย Stanford Center on Longevity พบว่า กำลังแรงงานทั่วโลกในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่ระดับดัชนีเท่ากับ 1 เป็น 1.3 กล่าวคือ กำลังแรงงานจะเพิ่มจาก 4.5 พันล้านคน เป็น 5.9 พันล้านคนในปี 2050 และจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากร ทำให้กำลังแรงงานในหลายประเทศทั่วโลกหดตัวลง โดยเฉพาะในปี 2050 ที่หลายประเทศต้องเผชิญกับสภาวะการหดตัวของจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเทศจีน และประเทศรัสเซีย ที่กำลังแรงงานจะหดตัวลงเล็กน้อย ขณะเดียวกัน มีอีกกลุ่มประเทศที่จะมีกำลังแรงงานขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2050 อันได้แก่ ประเทศอินเดีย ประเทศไนจีเรีย ประเทศปากีสถาน ประเทศตุรกี และประเทศอียิปต์

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2050 กำลังแรงงานของโลกกว่าร้อยละ 40 จะอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยที่ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ ในปี 2050 จะมีประชากรทั้งสิ้น 2.4 พันล้าน เพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านคนจากปัจจุบัน และจะเป็นประชากรอายุ 25 – 59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานกว่า 1 พันล้านคน หรือกล่าวได้ว่า จำนวนสัดส่วนของกำลังแรงงานในแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าคือ จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 23 นอกจากนี้ ยังพบว่า กำลังแรงงานในอนาคตอีกร้อยละ 40 จะอยู่ที่ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและจีน

กลุ่มกำลังแรงงานที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่สุด คือกำลังแรงงานจากประเทศไนจีเรีย อินเดีย ตุรกี และอียิปต์ ซึ่งผมขอเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า กลุ่มกำลังแรงงานประเทศ NITE

ประเทศไนจีเรีย ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา จะมีประชากรและเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2050 โดย Goldman sachs ได้คาดว่าในปี 2050 ไนจีเรียจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งสูงกว่าประเทศฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ โดยจะมีอัตราการขยายตัว 3,734% จากปี 2006 นอกจากนี้ ยังมีอัตราการเติบโตของดัชนีเปรียบเทียบจำนวนกำลังแรงงานมากที่สุดในโลก คือ ปี 2050 จะมีจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มมากขึ้นจาก 2010 คิดเป็น 2.23 เท่า หรือจาก 86.3 ล้านคน เป็น 192.2 ล้านคน

ประเทศอินเดีย เป็น 1 ในประเทศ BRICS และจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าประเทศจีน รวมถึงมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านไอที ทั้งยังมีอัตราการเติบโตของดัชนีเปรียบเทียบจำนวนกำลังแรงงานมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และจะเป็นประเทศที่จะมีจำนวนกำลังแรงงานมากที่สุดในโลก คือ ในปี 2050 จะมีจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มมากขึ้นจากปี 2010 คิดเป็น 1.41 เท่า หรือจาก 780.6 ล้านคน เป็น 1098 ล้านคน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากกว่าประเทศจีนประมาณ 200 ล้านคน

ประเทศอียิปต์ และประเทศตุรกี เป็น 2 ในกลุ่มประเทศ Beyond the BRICS จากทั้งหมด 11 ประเทศ ที่จะเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่องจนถึง ปี 2050 สำหรับประเทศอียิปต์ แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงปี 2010 – 2030 และ ช่วงปี 2030 – 2050 โดยทั้ง 2 ช่วงเวลา จำนวนแรงงานจะเพิ่มขึ้น คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 11.8 ตามลำดับ ในขณะที่ ประเทศตุรกี ในช่วงปี 2010 – 2050 มีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 11.2

สำหรับประเทศไทยในปี 2050 จะอยู่ในยุคสังคมแห่งผู้สูงอายุ กำลังแรงงานจะหดตัวลง ประกอบกับอัตราการเพิ่มของประชาชนลดน้อยลง ทำให้ในอีก 30 ปีข้างหน้าจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นวัยพึ่งพิงวัยทำงานจะมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่วัยกำลังแรงงานมีจำนวนลดลง และจากการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาวะกำลังแรงงานไทยเติบโตช้า รวมถึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งยังมีแนวโน้มความต้องการกำลังที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อุปทานของกำลังแรงงานมีน้อยลง ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร จึงเกิดเป็นอุปสงค์ส่วนเกินในกำลังแรงงานไทย ทำให้ประเทศไทยจะขาดแคลนกำลังแรงงานในอนาคต

สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ คือ มองหากลุ่มกำลังแรงงานกลุ่มใหม่จากต่างประเทศและนำเข้าแรงงานเหล่านั้น เช่นเดียวกับที่ประเทศตะวันตกทำ และร่วมกันพัฒนาแรงงานไทยด้วยการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ถือเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :?http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000004088701.JPEG