5679696

แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 5) : ผมขอเสนอคำใหม่ว่า ‘Meta City’

5679696กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

รายงาน United Nations World Urbanization Prospects กล่าวว่ากว่า2ใน3 ของประชากรโลกทั้งหมดจะอาศัยอยู่ใจกลางเมืองเนื่องด้วยความเป็นเมืองจะขยายออกมากขึ้น และในปี 2050 จำนวนประชากรใน mega cities จะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 พันล้านคน โดยใน 2.5 พันล้านคนนี้ ร้อยละ 37 มาจากทวีปเอเชียและแอฟริกา คือ ประเทศจีน อินเดีย และไนจีเรีย ทำให้ในปี 2050 จะมีประชากรมากกว่า 6 พันล้านคน ที่อาศัยอยู่ใน mega cities ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้จำนวน mega cities ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยตั้งแต่ปี 1990 มีเมืองใหญ่เพียง 10 เมืองเท่านั้น แต่ในปี 2014 นี้ มีเมืองใหญ่ถึง 28 เมืองทั่วโลก คือ 16 เมืองจากเอเชีย 4 เมืองจากละตินอเมริกา 3 เมืองจากทวีปแอฟริกาและยุโรปและอีก 2 เมืองจากทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนมากแล้ว เมืองใหญ่เหล่านี้ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing countries) และหลังจากนี้อีก 15 ปี คือ ในปี 2530 UN คาดว่าจะมีเมืองใหญ่เกิดขึ้นเป็น 41 เมือง

ด้วยจำนวน mega cities ที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่า เกิดจากโครงสร้างทางสังคมของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและขยายตัวไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่มีความสามารถในการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันสะท้อนให้เห็นได้จากรายได้ที่มากขึ้นและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในปัจจุบัน คือ 38 ล้านคน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในปี 2050 โอกาสและความเป็นไปได้ที่จะมีเมืองใหญ่กว่า mega cities หรือที่ผมเรียกว่า ?meta city? เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผมขอนิยามคำว่า meta city คือ เมืองที่มีคนมากกว่า 50 ล้านคน

อาศัยอยู่ ซึ่งคำว่า meta- เป็นคำที่อธิบายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าหรือมากกว่าคำว่า mega- ทั้งนี้ meta citiesจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจำนวนประชากรและจำนวน mega cities ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการรวมตัวกันของ mega cities หลายๆ เมือง จนทำให้เมืองที่เป็น mega citesก้าวไปสู่การเป็น meta citiesในที่สุด เมืองที่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น meta cities ได้แก่ The Pearl River Delta เพราะ เมืองนี้เกิดจากการรวมตัวกันทั้งหมด 9 เมืองในประเทศจีน คือจากกวางโจวถึงเสินเจิ้น ด้วยคาดการณ์ว่าจะมีประชากรทั้งสิ้น 42 ล้านคนภายในปี 2017 ประเทศจีนตั้งใจจะสร้างเมืองนี้เพื่อประชากรสามารถท่องเที่ยว ใช้บริการทางการแพทย์ และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในที่ต่างๆ กันได้อย่างอิสระ

โดยเมืองนี้จะกลายเป็นหัวใจแห่งการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ คือ เป็นจุดศูนย์กลางแห่งการผลิต ครอบคลุมไปด้วยการคมนาคมขนส่ง พลังงาน ทรัพยากรด้านต่างๆ โครงข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานกว่า 150 โครงการ และในปี 2020 ประเทศจีนจะวางแผนเกี่ยวกับการขยายขนาดของเมือง ซึ่งจะมีขนาดหรือจำนวนประชากรมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศจีนวางแผนจะสร้างโซนเมืองที่มีประชากร 50 – 100 ล้านคน และสร้างเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 10 – 25 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เมืองทางเหนือของจีน ที่ถือได้ว่าเป็นเมืองที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือ กรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรมากถึง 260 ล้านคน

ปัจจัยที่ทำให้เกิด meta cities คือ จำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกาการเพิ่มขึ้นของจำนวน mega cities ทำให้บางประเทศวางแผนรวม mega cities เข้าด้วยกัน และทำให้กลายเป็น meta cites ในที่สุด ประกอบกับความพร้อมทางด้านทุน ทรัพยากร และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละเมือง ที่ถือได้ว่าเป็นในการเกิด meta cities เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ ความต้องการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของโลก ที่เปรียบเสมือนเป็นแรงผลักดันในการสร้างและวางแผนพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้น และ meta cities ที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าและยกระดับทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้นส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาล เช่น การสร้างสนามบิน รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือท่าเรือขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ และการจ้างงานต่างๆ ฯลฯ

จากแนวโน้มที่เราเห็น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมในประเด็นการเพิ่มสูงขึ้นของ mega cities จนอาจนำไปสู่การเกิด meta city เป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ หลีกหนีไม่ได้ และควรจัดเตรียมแผนพัฒนาระบบรองรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ทุกประเทศควรมีการจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการวางนโยบายประเทศให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลกที่ใกล้เข้ามา อันนำมาซึ่งทิศทางและความชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

สำหรับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเป็น mega city ที่มีการเติบโตเร็ว อยู่ในอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 11 ประเทศทั่วโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตถึงร้อยละ 45.2 และปัจจุบันมีประชากรโดยประมาณ 14.5 ล้านคนทั้งนี้ ยังไม่พบแนวโน้มหรือโอกาสของกรุงเทพมหานครที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็น meta city แต่ทว่าจะยังคงมีการขยายตัวของจำนวนประชากรและความเป็นเมืองเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ กรุงเทพมหานครถูกพัฒนาให้มาเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงเป็นศูนย์รวมด้านการศึกษา และเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้จำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากประเทศไทยไม่ขยายความเจริญเติบโตออกไปตามหัวเมืองและภาคต่างๆ ของประเทศ หรือไม่ขยายขนาดของเมืองประกอบกับหากไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จำนวนประชากรที่มากเกินไปจะกลายเป็นวิกฤตการณ์คนล้นเมืองและอาจนำมาซึ่งปัญหามากกว่าประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรคำนึงถึงแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อเตรียมมาตรการรองรับไว้อย่างครบถ้วนและรอบคอบ ทั้งด้านนโยบายด้านสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง พลังงาน ค่าครองชีพ รวมถึงสภาพสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของทรัพยากร ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกโอกาสและความท้าทายหนึ่งแก่ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครในการก้าวสู่ความเป็นเมืองใหญ่ระดับมาตรฐานโลก

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://p.gr-assets.com/540×540/fit/hostedimages/1382121194/5679696.jpg