แนวโน้มหนังสือของไทยในอนาคต

เมื่อ 20 ปีก่อน เรายังถ่ายรูปจากกล้องและฟิล์ม ต้องเอาฟิล์มไปล้างเพื่อดูรูป แต่ปัจจุบันเราใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพสวย ๆ ได้ง่าย ๆ และเผยแพร่ภาพนั้นผ่านออนไลน์ได้ทันที

…ยุคฟิล์มถ่ายภาพ ในวันนั้น แทบจะ ‘หายไป’ แล้วในวันนี้ เพราะถูกแทนที่ด้วยยุคดิจิตอล

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ต่างจาก ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ ที่กำลังจะทยอยปิดตัว โบกมืออำลา ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ทยอยปิดตัวลง ส่วนอุตสาหกรรมหนังสือ ทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือต่างตกอยู่ในภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

…ยุค ‘สื่อกระดาษ’ กำลังถูกแทนที่ด้วย ยุค ‘สื่อดิจิตอล’  

คำถาม คือ …อนาคตสำนักพิมพ์และร้านหนังสือจะเป็นอย่างไร?

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันคนเลือกที่จะใช้การอ่านสื่อต่าง ๆ ผ่านสื่อดิจิตอลมากขึ้น เพราะนอกจากสะดวก รวดเร็ว อ่านได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว ยังประหยัดกว่าการซื้อเป็นเล่มเหมือนในอดีต ในมุมมองของผม สิ่งพิมพ์ที่ต้องยอมรับในอนาคตจะหมดไป หรือ ไม่มีใครลงทุนพิมพ์จำหน่ายอีก เพราะนอกจากลงทุนสูงแล้ว ยังไม่มีคนซื้อและไม่มีใครมาลงโฆษณาด้วย  ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารต่าง ๆ ฯลฯ โดยจะปรับตัวมาสู่การทำออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ และนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าและเข้าถึงได้รวดเร็วกว่า

ส่วนธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ผมวิเคราะห์ว่า จะยังคงไปต่อได้ แต่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย ดังนี้

ธุรกิจสำนักพิมพ์พิมพ์น้อย ขายได้ ขายหมด ต้องยอมรับความจริงว่า ต่อไปต้นทุนการผลิตหนังสือต่อเล่มจะมีราคาสูงขึ้น ทั้งค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ การจัดจำหน่าย และการจัดเก็บสินค้า สำนักพิมพ์จะไม่สามารถรับภาระต้นทุนพิมพ์หนังสือ เพื่อหวังกำไรจากการจำหน่ายได้อีกต่อไป นอกจากจะมั่นใจว่า หนังสือที่ผลิตออกมานั้นจะเป็นที่ต้องการของตลาด และจำหน่ายได้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้น สำนักพิมพ์ต้องมั่นใจว่า หนังสือเล่มนั้นจะขายได้ จึงจำเป็นต้องเลือกพิมพ์เฉพาะหนังสือของผู้เขียนที่มีชื่อเสียง หรือมีกลุ่มเป้าหมายเจาะจงอยู่แล้ว หรือหนังสือแปลจากหนังสือขายดีระดับโลก ซึ่งมั่นใจว่าพอจะจำหน่ายหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจะไม่จัดพิมพ์จำนวนมากเช่นในอดีต ตามความต้องการที่ลดลง

ที่สำคัญ ต้องใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ในการประชาสัมพันธ์หนังสือ ให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่า จะมีหนังสือใหม่ออกมา เช่น การให้ผู้เขียนโปรโมทหนังสือของตน การทำให้คำนิยมมีชีวิต โดยนอกจากจะให้ผู้เขียนคำนิยมหลังปกแล้ว อาจให้ช่วยพูดแนะนำผ่านสื่อ รวมทั้งการให้คนที่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย ช่วย review หนังสือ เพื่อให้หนังสือเป็นที่รู้จักและดึงดูดให้อยากซื้อมาอ่าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถสั่งจองและซื้อผ่านออนไลน์ได้

นอกจากนี้  สำนักพิมพ์ต้องตระหนักว่า แม้หนังสือเล่มอาจดึงดูดนักอ่านกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการได้อ่านหนังสือ แต่ขณะเดียวกัน ต้องมีกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจดึงดูดให้คนทั่วไปอยากซื้อหนังสือเล่มมากกว่า e-book โดยเพิ่มสิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับเป็นพิเศษ เช่น ลายเซ็นและของที่ระลึกจากผู้เขียน เป็นต้น

ธุรกิจร้านหนังสือขนาดใหญ่ – เพิ่มหนังสือภาษาอังกฤษ ผมวิเคราะห์ว่า ร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ ซึ่งกำลังประสบปัญหายอดขายตกอยู่ในขณะนี้ ทางรอดในอนาคต หากยังต้องการรักษาความเป็น “ร้านหนังสือ” ต่อไปให้อยู่รอดและมีกำไร ผมเสนอว่าจะต้องปรับตัวสู่สากล โดยไม่เน้นเพียงขายหนังสือภาษาไทยเท่านั้น แต่ต้องมีหนังสือภาษาอังกฤษด้วย เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้มากขึ้น รวมทั้งมีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วย ดังนั้น หากร้านหนังสือปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางหนังสือขายดีทั่วโลก (best sellers) ให้คนสามารถเข้ามาเลือกซื้อได้ รวมทั้งมีบริการสั่งซื้อและสั่งจองให้ด้วย ย่อมเพิ่มโอกาสเติบโตของ ร้านหนังสือขนาดใหญ่ต่อไปได้

ธุรกิจร้านหนังสือขนาดเล็ก – เพิ่มบริการดึงดูดให้เข้าร้าน ส่วนร้านหนังสือขนาดเล็ก ผมมองว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำธุรกิจนี้ด้วยใจรัก – รักการอ่าน รักหนังสือ และปรารถนารักษาร้านหนังสือไว้ แต่คงต้องปรับตัวจับกลุ่มเป้าหมายที่เจาะจงมากขึ้น เพราะในยุคนี้ คนที่จะมาเข้าร้านหนังสือ และเดินเลือกทีละเล่ม ๆ แบบเดิม ๆ นั้นจะมีน้อยลงมาก เพราะเขาสามารถค้นหาหนังสือใหม่ ๆ จากออนไลน์ การมาร้านหนังสือจึงมักมีเป้าหมาย โดยจะติดต่อมาก่อนว่ามีหนังสือเล่มที่ต้องการหรือไม่

ร้านหนังสือขนาดเล็กอาจต้องยอมรับความจริงว่า รายได้จากการขายหนังสือ อาจไม่ใช่รายได้หลัก แต่หากยังคงรักษาไว้ จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ พูดคุยให้เกิดความใกล้ชิด ลูกค้าสามารถสอบถามสั่งซื้อ-สั่งจองหนังสือได้ นอกจากนี้ ต้องเพิ่มทางเลือกอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ เช่น

  • การจัดร้านให้เป็นกึ่งห้องสมุด มีบริการให้ยืมหนังสืออ่านที่ร้านและยืมกลับบ้าน
  • การเพิ่มบริการอื่น ๆ อาทิ มีบริการเครื่องดื่ม อาหารว่าง มีพื้นที่ให้นั่งอ่านหนังสือ พักผ่อนหย่อนใจ
  • ปรับให้เป็น co-working space มีพื้นที่นั่งทำงาน ติวสอบ มีห้อง meeting room ให้ลูกค้าสามารถจัดประชุม ทำรายงาน หรือจัดเสวนากลุ่มเล็ก ๆ ได้
  • จัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับหนังสือ โดยเปลี่ยนร้านหนังสือให้เป็นพื้นที่พบปะของนักอ่านและผู้เขียน จัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ที่ได้จากการอ่าน การฝึกอบรมภาคปฏิบัติตามคำแนะนำในหนังสือ เป็นต้น

ในอนาคตอันใกล้นี้ หนังสือเล่มจะยังคงอยู่ ไม่ถูกแทนที่ด้วย e-book  อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังคงชื่นชอบการอ่านหนังสือเล่มมากกว่า อีกทั้ง การอ่านหนังสือเล่มยังมีข้อดีอื่น ๆ เช่น สบายตา พลิกกลับไปมาได้สะดวก และสามารถเก็บไว้เป็นของสะสมที่มีคุณค่าได้ เป็นต้น

ที่สำคัญ หากสังคมไทยส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านได้สำเร็จ คนกลุ่มต่าง ๆ ชอบใช้เวลาว่างในการอ่าน รู้จักเลือกหนังสืออ่าน มีสมาธิและจดจ่อในการอ่าน มีพื้นที่ในการอ่าน และมีโอกาสเข้าสมาคมและร่วมกิจกรรมดี ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ นักอ่าน ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นเช่นนี้ ย่อมมั่นใจว่า สำนักพิมพ์และร้านหนังสือยังคงเดินหน้าไปได้เรื่อย ๆ แม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีตก็ตาม

 

มติชน : ประชาชื่น/กระแสทรรศน์
ปีที่ 42 ฉบับที่ 14926 วันอังคารที่ 22 มกราคม 2562

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.