แนวคิดประสิทธิผล : ฮาร์วาร์ดบริหารเน้นผลผลิต

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E จัดการที่เน้นผลผลิต (Output) อันเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารManagement Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็นแต่ละยุทธศาสตร์ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิผล (Effectiveness) หรือยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

ประสิทธิผลเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “ผล” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า ผล หมายความถึง ประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายใหม่ในมุมมองที่แตกต่างว่า การได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีตัวชี้วัด (Indicator) หรือ ดัชนี (Index) กำกับชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ประสิทธิผลเป็นยุทธศาสตร์การบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลช่วยให้การดำเนินงานมุ่งผลผลิตที่สนองตอบเป้าหมายแท้จริง มิเพียงมุ่งสร้างผลผลิตให้เกิดขึ้นเท่านั้น เช่น การตั้งเป้าหมายให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนการมีงานทำร้อยละ 100 โดยมีตัวชี้วัดหรือดัชนีกำกับชัดเจน

การมีตัวชี้วัดหรือดัชนีกำกับจะส่งผลให้การบริหารจัดการรู้สถานะที่แท้จริงของสิ่งที่ต้องการวัดหรือต้องการประเมิน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นความก้าวหน้า สามารถวัดความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิผลของผมดังกล่าวนี้ เช่น การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยให้ได้ร้อยละ 30 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2006 – 2016 พัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ (low-carbon community) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและโลกนี้

ที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวนี้ด้วยการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์และอุปทานพลังงาน ดึงประชาคมมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นนักศึกษา พนักงาน และคณาจารย์ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีการติดตามวัดความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดมิติใหม่ในการใช้พลังงานของฮาร์วาร์ด จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ของโครงข่ายพลังงานระดับภูมิภาค (decarbonization of regional electric grid) ส่งผลให้ฮาร์วาร์ดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 24 ขณะที่กระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนท้องถิ่น (local renewable energy sources) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 6 (Purchased electricity from local renewable energy sources fulfilled the remaining 6% reduction needed to meet the goal.) นอกจากความเจริญเติบโตก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยแล้ว ฮาร์วาร์ดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 40 (Excluding campus growth, emissions were reduced by 40%)

นอกจากนี้ จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดยังระบุอีกด้วยว่า ฮาร์วาร์ดมีการประเมินผลรายวิชา คณาจารย์ผู้สอน และผู้ช่วยสอน ที่เรียกว่า Q evaluation ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกภาคการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ สำหรับผู้ช่วยสอนที่ได้รับผลคะแนนการประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 หรือมากกว่านั้น โดยมีจำนวนการตอบอย่างน้อย 7 ครั้ง (at least seven responses) จะได้รับประกาศนียบัตรยอดเยี่ยมทางด้านการสอน (Certificate of Distinction in Teaching) แต่หากได้รับผลคะแนนการประเมินอยู่ที่ 3.0 หรือต่ำกว่า ผู้ช่วยสอนคนดังกล่าวจะได้รับจดหมายจากสำนักงานการศึกษาระดับปริญญาตรี (Office of Undergraduate Education) เพื่อพัฒนาปรับปรุงทักษะการสอนของตนเองก่อนที่จะกลับสู่ชั้นเรียน (outlining steps to be taken to improve his or her teaching skills before returning to the classroom)

ยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิผลจะเป็นประโยชน์ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นภาพรวม มีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน เกิดการทุ่มทรัพยากรลงไปอย่างถูกที่ ให้น้ำหนักหรือความสำคัญอย่างถูกต้อง เหมาะสม วัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

มหาวิทยาลัยไทยสามารถนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิผลดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ด้วยการพัฒนาให้มีตัวชี้วัดหรือดัชนีกำกับการพัฒนาทุกเรื่อง โดยให้เป็นตัวชี้วัดหรือดัชนีที่สามารถแสดงสภาวะหรือชี้สมรรถนะได้อย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้นอีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยคำพูดของ ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker) ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถวัดมันได้ คุณก็ไม่สามารถบริหารจัดการมันได้” (If you can’t measure it, you can’t manage it.) ครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ 6 – พฤหัสบดี 12 ตุลาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.