เสริมมารยาทเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ลูก

วันสำคัญวันหนึ่งในเดือนเมษายนของทุกปี คือ วันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่หลายครอบครัวถือโอกาสวันหยุดสงกรานต์กลับไปเยี่ยมคุณพ่อ คุณแม่ บ้างก็พาลูกหลานไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนและเชื่อมความสัมพันธ์ในวงศ์ญาติไปพร้อมกันในโอกาสเดียว เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวญาติพี่น้องพาลูกหลานมาทำความรู้จักกันและกัน ได้รู้ว่าลูกของคนโน้นหลานของคนนี้เป็นอย่างไร หน้าตา นิสัย เป็นอย่างไร ขณะเดียวกันสิ่งที่จะได้ยินตามมามักหนีไม่พ้นคำชมหรือคำตำหนิของผู้ใหญ่ ที่พูดกันในวงญาติทั้งต่อหน้าและหลับหลัง ในทำนองเปรียบเทียบลูกคนนั้นกับลูกคนนี้ หลานคนนั้นกับหลานคนโน้น
พ่อแม่มักจะดีใจหากลูกได้รับคำชมในทางบวก เช่น สวย น่ารัก หล่อ พูดเก่ง เรียนดี ฯลฯ ซึ่งนับเป็นสิ่งดีและพ่อแม่ควรภูมิใจ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรมองอีกมุมหนึ่งคือ คำชมลักษณะนี้เป็นคำชมบนพื้นฐานของรูปร่างลักษณะภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมา อาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายนัก และอาจทำให้เด็กเข้าใจว่า ผู้ใหญ่มองคุณค่าของเขาเพียงสิ่งภายนอกเท่านั้น

ผมอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ได้มองอีกด้านหนึ่งในส่วนที่เป็นเรื่องของภายใน เป็นเรื่องของลักษณะชีวิต ลักษณะนิสัย เช่น ขยัน มีน้ำใจ สุภาพ มีมารยาท ใจเย็น เอื้อเฟื้อ เสียสละ อดทน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นรากฐานของความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิตเด็กในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คุณลักษณะชีวิตและคุณลักษณะนิสัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ผ่านการปลูกฝังค่านิยมความคิดที่ถูกต้องให้กับลูกตั้งแต่เยาว์วัย

 

การที่ลูกของเรามีคุณลักษณะชีวิตและนิสัยที่ดีนั้นช่วยให้ลูกเป็นที่รักของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับตัวเขา เมื่อเขาเป็นเด็ก ใครเห็นก็รักใคร่เอ็นดู เมื่อเขาเติบโตขึ้น คนอื่นจะพร้อมอุ้มชูให้ไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งในชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ยิ่งกว่านั้นเด็กที่เติบโตมาอย่างเป็นที่รักของคนรอบข้างย่อมมีความมั่นคงในจิตใจ มีความมั่นใจในตนเองมากกว่า ซึ่งส่งผลกลับมาที่ทำให้พ่อแม่มีความภาคภูมิใจด้วย การที่พ่อแม่จะสามารถสร้างลูกให้เติบโตมาเป็นที่รักต่อคนรอบข้าง หรือ เป็นเด็กที่ใครเห็นใครรัก ใครอยู่ด้วยล้วนแล้วแต่เอ็นดูได้นั้น พ่อแม่จำเป็นต้องปลูกเสน่ห์ให้ลูกด้วยการสอนมารยาทที่เหมาะสม โดย “ลักษณะนิสัยชวนให้รัก” ที่พ่อแม่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในชีวิตของลูกนั้นได้แก่

 

การทักทายคนอื่นก่อน
เมื่อไม่นานมานี้มีรายการโทรทัศน์นำเสนอโรงเรียนเด็กเล็กที่ประเทศญี่ปุ่น ที่สอนเด็กเรื่องมารยาทการทำความเคารพกันและกัน เขาไม่เพียงให้เด็กโค้งคำนับเมื่อทักทายผู้ใหญ่ แต่ให้ทักทายเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย สอนให้เด็กทำมาจากใจข้างในที่แสดงความรู้สึกออกมาจากใจจริง ซึ่งในบริบทของสังคมไทยคือการทักทายโดยการไหว้ หากเราสอนลูกเราให้ทักทายคนอื่นก่อน ให้ไหว้จากจิตใจที่เคารพผู้ใหญ่ เป็นการสอนความถ่อมใจให้เกียรติผู้อื่น พ่อแม่ต้องใส่ใจสอนเรื่อย ๆ บอกให้เข้าใจเรื่องนี้จนเป็นนิสัยติดตัวลูกไปตลอด เด็กเล็กที่รู้จักการยกมือไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่หรือญาติพี่น้องก่อน จะช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับลูกของเรา คนรอบข้างชื่นชมในมารยาทที่ดีของเขา นอกจากนี้ การทักทายกันด้วยการยกมือไหว้ ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้อยู่ต่อไปอีกด้วย

 

ความมีน้ำใจต่อคนรอบข้าง
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็ก ๆ จะทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่น แต่ถ้าเด็กไม่เคยทำอะไรลักษณะเช่นนี้เลย นี่สิแปลก ทั้งนี้เพราะเด็กทุกคนจะมีส่วนประกอบของจิตใจที่สามารถเห็นอกเห็นใจ สงสาร และปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์หรือมีความเศร้าโศกอยู่แล้ว

 

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ได้มีการศึกษาถึงต้นกำเนิดของพฤติกรรมการห่วงใยผู้อื่น (caring behavior) พบว่า แม้แต่เด็กอายุเพียง 18 เดือนก็สามารถที่จะแสดงความเห็นใจ (sympathy) คนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือคนที่ไม่มีความสุข และแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ลักษณะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนจะแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่ออายุ 4 ขวบ และจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งถึงอายุ 13 ขวบ ลักษณะดังกล่าวสัมพันธ์กับความสามารถในการมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามวัย และการที่เด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไม่ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในครอบครัวที่ยากจนหรือร่ำรวยก็สามารถทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่นได้

 

เด็กที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนจะมีแนวโน้มก้าวหน้าในการพัฒนาการใช้เหตุผล (mental reasoning) พวกเขาจะมีแนวโน้มเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนที่เลือกทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและผู้อื่น เป็นคนที่ผู้อื่นเลือกที่จะคบหาสมาคมด้วยมากกว่า
พ่อแม่ควรสอนลูกให้มีน้ำใจต่อคนรอบข้าง โดยการเป็นแบบอย่างที่ดีและการสอนผ่านชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน การยอมเสียสละมอบสิ่งดีที่มีอยู่ให้ผู้อื่น การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เสียเปรียบมากกว่าการตั้งเป้าเพียงแค่ว่าตนต้องเป็นผู้ที่ได้รับเท่านั้น ห้ามเสียเปรียบใครทั้งสิ้น เพราะการที่เราให้ออกไปนั้นแท้จริงแล้วเปรียบได้กับเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์สิ่งดีลงไปในดิน ซึ่งเมื่องอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่แล้วย่อมออกดอกออกผลให้เราได้เก็บกินสิ่งดีที่ได้หว่านออกไปนั้นตามมามากมายตราบนานเท่านาน

 

สอนลูกในรู้กาลเทศะ
เรามักได้ยินผู้ใหญ่รุ่นลุงรุ่นป้าพูดว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักกาลเทศะเอาเสียเลย ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่มีมารยาท เวลาคุยกันก็พูดข้ามหัวผู้ใหญ่ไปมา ไม่ให้เกียรติผู้อาวุโสกว่า แน่นอนว่าเรื่องกาลเทศะนี้ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ลูกต้องได้รับการแนะนำอธิบายความเหมาะสมจากพ่อแม่ เช่น เมื่อลูกไปเล่นบ้านเพื่อนลูกควรปฏิบัติตัวอย่างเป็นแขก ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้าของบ้านที่จะหยิบจับ ใช้ของอะไรตามใจตัวเอง หรือเมื่อมีแขกมาที่บ้าน เขาควรปฏิบัติตัวอย่างไรที่เป็นการแสดงออกของการให้เกียรติผู้ใหญ่ เช่น กล่าวสวัสดี ยกมือไหว้ การเชิญให้นั่ง นำน้ำมาต้อนรับ ไม่พูดแทรกเวลาพ่อแม่คุยกับแขกยังไม่เสร็จ ไม่กระโดดไปมาตรงที่นั่งของแขก ไม่ตะโกนหรือโยนของข้ามหัวผู้ใหญ่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมารยาทที่ต้องสอนแนะจนกว่าลูกจะเข้าใจ พ่อแม่ไม่ควรคิดว่ารอให้เขาโตกว่านี้ก่อนค่อยสอนเพราะเมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่จะสอนลูกได้ยากขึ้น เพราะเด็กจะรู้สึกว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยบอกให้ต้องทำ ไม่เห็นเป็นอะไรถ้าจะไม่ทำและไม่ใช่เรื่องผิดต้องถูกลงโทษ

 

การสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเองนั้นหลักการสำคัญคือ “การให้มากกว่ารับ” พ่อแม่จึงต้องสอนลูกให้เข้าใจว่า “เราปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมองเราหรือปฏิบัติต่อเราเช่นไร เราต้องทำในสิ่งนั้นออกไปก่อนเสมอ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก รวมทั้งการอบรมสั่งสอนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ จากนิทาน หรือจากตัวอย่างสมมติ นอกจากนี้บทบาทสำคัญของพ่อแม่อีกประการหนึ่งนั่นคือในการเป็นกระจกเงาที่คอยส่องภาพความเป็นจริง สะท้อนให้ลูกได้เห็น ข้อบกพร่องของตนเองที่หากปล่อยทิ้งไว้แล้วอาจพัฒนากลายเป็นนิสัยที่น่ารังเกียจต่อไปในอนาคตอันเป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วยในที่สุด

 

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 519 พฤษภาคม 2558 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://files.alejandraruiz-es.webnode.es/200000008-1b8761c7fc/different-greetings.jpg