ฮาร์วาร์ดสร้างสรรค์นวัตกรรมคลังความรู้แบบออนไลน์

    ด้วยว่าความเจริญรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีและโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้มหาวิทยาลัยทั่วโลกต้องเรียนรู้ปรับตัวเกาะเกี่ยวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสนองตอบภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยทางด้านการสอน การวิจัย และการบริการสังคม เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ตัวอย่างดังกล่าวที่ว่านี้จากกรณีศึกษาของฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่สำคัญของโลก

    ตลอดประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายร้อยปีที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดมีการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษาลักษณะใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ ฐานทรัพยากรและข้อมูลการเรียนรู้แบบออนไลน์สำหรับชั้นเรียนเตรียมอุดมศึกษา (post – secondary classrooms) ที่รู้จักกันในชื่อ ablconnect1  ฐานทรัพยากรและข้อมูลการเรียนรู้แบบออนไลน์ดังกล่าวนี้พัฒนาขึ้นโดยอาจารย์ทางด้านการปกครองของฮาร์วาร์ด เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา 
    ปัจจุบัน ablconnect ทำงานร่วมกับศูนย์บ็อคเพื่อการสอนและการเรียนรู้แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard’s Bok Center for Teaching and Learning) สนับสนุนทรัพยากรและข้อมูลการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษาบัณฑิตผู้ช่วยสอน (graduate student teaching assistants) นักศึกษาหลังปริญญาเอก และบุคคลอื่นที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการสอน (teaching undergraduate) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือนักศึกษาวิชาชีพทุกศาสตร์สาขาวิชา โดยภายในฐานข้อมูลประกอบด้วย กิจกรรม บทเรียน โครงการ พร้อมด้วยวัสดุประกอบด้านการเรียนการสอนของคณาจารย์ฮาร์วาร์ดในรูปแบบออนไลน์ที่สามารถค้นหาได้อย่างสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง
    ablconnect ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากหน่วยงาน Harvard Initiative for Learning and Teaching ที่มีเป้าหมายต้องการพัฒนาการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ดให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาความแข็งแกร่งของศาสตร์ทางด้านการเรียนรู้ นอกจาก ablconnect จะมีประโยชน์ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านการพัฒนาเนื้อหา เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติการสอนในระดับมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์สาขาวิชาแล้ว ยังมีลักษณะน่าสนใจบางประการที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้ ดังนี้   
    เป็นคลังทรัพยากรและข้อมูลการเรียนรู้แบบออนไลน์หลากหลายประเภท โดยในที่นี้ได้มีการจัดแบ่งหมวดหมู่อย่างเป็นระบบออกเป็น 6 หมวดหมู่ด้วยกัน เพื่อทำให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นหาและการนำไปใช้ ประกอบด้วย 
        หมวดประเภทกิจกรรม อาทิ การอภิปราย การวิจัย การโต้วาที การแสดงบทบาทสมมติ การบ้าน เกมส์ การบรรยาย แผนที่ความคิด กรณีศึกษา สื่อนำเสนอ เพื่อนสอนเพื่อน ห้องปฏิบัติการ
        หมวดสาขาวิชา อาทิ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)
        หมวดเป้าหมายการเรียนรู้ อาทิ การจัดโครงสร้างและบริบท (Providing Structure and Context) การประเมินผลชั้นเรียน การสะท้อนกลับ และการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Classroom Assessment, Reflection & Feedback) 
        หมวดเส้นเวลา ประกอบด้วย กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาเพียงชั้นเรียนเดียว (Single-Class) อาทิ กิจกรรมการโต้วาทีเกี่ยวกับการทำแท้ง กิจกรรมที่ทำซ้ำหลายครั้ง (Repeating) อาทิ กิจกรรมการวิเคราะห์ศิลปะแห่งภาพยนตร์ กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ (Week) อาทิ กิจกรรมการประชุมเพื่อการประชุมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ (Two Weeks) อาทิ กิจกรรมการวิเคราะห์ความสำเร็จ กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาเป็นเดือน (Month) อาทิ กิจกรรมการให้คะแนนโดยเพื่อนร่วมชั้น และกิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาเป็นภาค/ปีการศึกษา (Term/Year) อาทิ กิจกรรมการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า เป็นต้น  
        หมวดขอบเขตนักศึกษา ประกอบด้วย กิจกรรมรายปัจเจกบุคคล (Individual) อาทิ กิจกรรมผู้นำการอภิปราย กิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งชั้นเรียน (Whole-Class) อาทิ กิจกรรมทฤษฏีและการวัดผล กิจกรรมที่ทำเป็นกลุ่ม (Group) อาทิ กิจกรรมการสนทนาภาษาต่างประเทศ – 4 วันในเดือนกันยายน (Foreign language dialogue- four days in September) กิจกรรมที่ทำเป็นคู่ (Pair) อาทิ กิจกรรมข้อดีและข้อเสียของยาตาลิโดไมด์ เป็นต้น 
        หมวดผลิตผลขั้นสุดท้าย โดยในที่นี้จะนำเสนอบางประการที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลสำหรับการอภิปราย (Data for Discussion) อาทิ กิจกรรมสเตอรอยด์และการโคลนนิ่ง กิจกรรมยุทธศาสตร์ทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น การสะท้อนกลับ (Reflection) อาทิ กิจกรรมการถ่ายภาพในภาคปฏิบัติ กิจกรรมการทดลองทางการเมือง เป็นต้น สื่อนำเสนอ (Presentation) อาทิ กิจกรรมการนำเสนอผลงานประจำสัปดาห์ กิจกรรมการวาดภาพจักรวาลของพวกเรา เป็นต้น 
        หมวดประเภทการประเมินผล ประกอบด้วย การประเมินผลโดยใช้ปัญหา/คำตอบ (Problem/Answer) การประเมินผลโดยอาศัยความร่วมมือ (Collaborative) การประเมินผลโดยใช้การสังเกต (Observational) การประเมินผลอย่างต่อเนื่อง (Sequential) การประเมินผลตามสถานการณ์ (Situational) และการประเมินผลระดับคุณภาพ (Rubric-driven) 
    บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีหลากหลาย นอกจาก ablconnect จะทำงานร่วมกับศูนย์บ็อคเพื่อการสอนและการเรียนรู้แห่งฮาร์วาร์ดแล้ว ยังทำงานประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ อีกหลายองค์กร อาทิ ศูนย์การสอนทางวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Center for Scientific Teaching at Yale) ศูนย์มหาวิทยาลัยคอร์แนลสำหรับความเป็นเลิศทางด้านการสอน (The Cornell University Center for Teaching Excellence) ห้องปฏิบัติการสอนและการเรียนรู้แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (The MIT Teaching and Learning Laboratory) เป็นต้น 
    ablconnect เป็นตัวอย่างที่สะท้อนวัฒนธรรมอันดีงามอย่างหนึ่งของฮาร์วาร์ดคือ วัฒนธรรมการแบ่งปันถ่ายทอดวิชาความรู้และกระจายองค์ความรู้สู่ปวงชนอย่างกว้างขวาง เป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมความรู้จากฐานคนอื่น และส่งเสริมให้ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งอารยธรรมความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
    ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
    ผมเสนอให้มหาวิทยาลัยควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ โดยให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายองค์ความรู้และให้บริการสังคมของมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อองค์ความรู้กับศูนย์วิทยาการความรู้ที่สำคัญของโลก อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการแบ่งปันถ่ายทอดวิชาความรู้และกระจายองค์ความรู้สู่ปวงชนอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ดด้วยอีกทางหนึ่ง อาทิ การพัฒนาคลังความรู้แบบดิจิตอลตามจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย โดยพัฒนาให้มีมาตรฐานสากล โดดเด่น มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ดึงดูดกลุ่มผู้ใช้บริการจากทั่วโลก อาทิ การพัฒนาคลังความรู้ดิจิตอลทางด้านการเกษตร การพัฒนาคลังความรู้ดิจิตอลทางด้านการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อนักศึกษา คณาจารย์ และมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านนั้น ๆ ให้แก่มวลมนุษยชาติด้วยอีกทางหนึ่ง      

1Harvard University, ablconnect accessed October 12, 2015, available from http://ablconnect.harvard.edu/pages/about

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 6 วันที่ 23-29 ตุลาคม 2558
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
 

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.equatex.com/site/wp-content/uploads/full-banner-digital-channels-1024×640.jpg