ฮาร์วาร์ดสร้างผลกระทบสู่เมืองเคมบริดจ์

การมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบสู่ชุมชนท้องถิ่นเป็นพันธกิจและภารกิจที่สำคัญของฮาร์วาร์ดตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ฮาร์วาร์ดเป็นผู้นำทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ การมีส่วนร่วมทำงานกับชุมชนท้องถิ่นไม่เพียงนำประโยชน์และการพัฒนามาสู่ชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักศึกษา เป็นบริบทให้นักศึกษาได้ฝึกฝนประยุกต์เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ส่งเสริมนักศึกษาให้ได้รับการพัฒนาครบถ้วนรอบด้านทั้งด้านความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต1 ด้วยอีกทางหนึ่ง             

รูปธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบสู่ชุมชนท้องถิ่นของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้คือ การมีส่วนทำงานร่วมกับเมืองเคมบริดจ์  ทั้งทางด้านการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย ความยั่งยืน และการเป็นหุ้นส่วนกับชุมชน2 อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ นำประโยชน์ และการพัฒนามาสู่ชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ด้านการศึกษา ฮาร์วาร์ดสร้างผลกระทบครอบคลุมทุกโรงเรียนรัฐในเขตเมืองเคมบริดจ์และผ่านโครงการ/กิจกรรมลักษณะหลากหลาย อาทิ การเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของฮาร์วาร์ด อันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน การมีโอกาสเรียนรู้จากนักการศึกษาของฮาร์วาร์ด การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้คำปรึกษาและการพัฒนาของฮาร์วาร์ดประมาณกว่า 100 โครงการ รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และครอบครัว อีกทั้งเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์ทางวิชาการในรั้วฮาร์วาร์ดให้แก่เด็กนักเรียนเกรด 7 ที่เข้าร่วม ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวมีเด็กนักเรียนเข้าร่วมกว่า 1,150 คน เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ ฮาร์วาร์ดสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศทางด้านนวัตกรรม การสร้างงาน และการสนับสนุนโอกาสสำหรับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจลักษณะหลากหลาย อาทิ มีบุคลากรฮาร์วาร์ดทำงานอยู่ในเมืองเคมบริดจ์เป็นจำนวนถึง 12,000 คน มีผู้พักอาศัยของเมืองเคมบริดจ์ทำงานที่ฮาร์วาร์ด 4,600 คน ฮาร์วาร์ดดึงดูดผู้มาเยี่ยมเยียนเป็นจำนวนกว่า 100,000 คนในแต่ละปี เป็นต้น

ด้านที่อยู่อาศัย ฮาร์วาร์ดสร้างผลกระทบด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับเมืองเคมบริดจ์และองค์กรท้องถิ่น อาทิ จากข้อมูลปัจจุบันฮาร์วาร์ดช่วยสร้างหรือดูแลรักษาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนท้องถิ่นที่มีระดับรายได้ปานกลางและระดับรายได้ต่ำ มากกว่า 1,000 หน่วย นอกจากนี้ทุก ๆ ฤดูร้อน ฮาร์วาร์ดและหุ้นส่วนเมืองเคมบริดจ์จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปิกนิกสำหรับเพื่อนบ้านที่เป็นพลเมืองอาวุโสท้องถิ่นมากกว่า 1,000 คน อันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ฮาร์วาร์ดร่วมจัดให้กับผู้พักอาศัยในเขตเมืองเคมบริดจ์ เป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันมามากกว่า 40 ปี เป็นต้น

ด้านความยั่งยืน อาทิ ในชั้นเรียนของฮาร์วาร์ดมีการเชื่อมสู่การจัดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการปฏิบัติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน คณาจารย์ของฮาร์วาร์ดทำการวิจัยและการสอนที่เน้นเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากกว่า 240 ชั้นเรียน เป็นต้น

ด้านการเป็นหุ้นส่วนกับชุมชน เป็นความภาคภูมิใจของฮาร์วาร์ดที่ได้สร้างและเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น อาทิ การเป็นหุ้นส่วนกับองค์กร Food for Free บริจาคอาหารราว 2,000 มื้อให้แก่ผู้ที่อยู่ในความต้องการในแต่ละสัปดาห์ การสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กหลายร้อยคนเพื่อเข้าสถานเลี้ยงดูแลเด็กในช่วงเวลากลางวัน หลักสูตรสำหรับเด็กหลังเลิกเรียน และการเข้าร่วมค่ายภาคฤดูร้อนที่ศูนย์ชุมชนเคมบริดจ์ (Cambridge Community Center) เป็นต้น

การสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทั้ง 5 ด้านของฮาร์วาร์ด มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดแก่ชุมชนท้องถิ่นในเขตเมืองเคมบริดจ์ อันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม  

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบนำประโยชน์ การพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจังหลากหลายมิติบนพื้นฐานจุดแกร่งการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเอง เป็นองคาพยพที่สำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมสู่การเป็น “สยามอารยะ” หรือเป็นประเทศที่มีความเจริญงอกงามอย่างบูรณาการ สมดุล และยั่งยืนในทุกด้าน3   

ในภาคปฏิบัติ ผมเสนอให้มหาวิทยาลัยควรบูรณาการประเด็นปัญหาของท้องถิ่นบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอนและการทำวิจัย ใช้การวิจัยท้องถิ่นเป็นตัวแบบการเรียนการสอนในสัดส่วนที่เหมาะสม เริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนกระทั่งระดับปริญญาเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับมิติทิศทางการพัฒนาประเทศและเน้นการวิจัยที่เป็นนวัตกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคปฏิบัติ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม ของท้องถิ่น อันจะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติและสังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
 


1เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2542), หน้า 194.
2Harvard University. Harvard in the Community.  [Online], accessed June 13, 2016, available from http://community.harvard.edu/sites/default/files/2016_Cambridge_Impact_Mailing.PDF
3อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. (กรุงเทพฯ :  ซัคเซส มีเดีย, 2555), หน้า 5.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 41 วันที่ ศุกร์ 24 – พฤหัสบดี 30 มิถุนายน 2559


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com 
แหล่งที่มาของภาพ : http://s3.amazonaws.com/libapps/accounts/56624/images/055027_1253449.jpg.800x530_q95_crop-smart_upscale.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.