ฮาร์วาร์ดสร้างผลกระทบการพัฒนาสังคมสู่ระดับโลก

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการพัฒนาฮาร์วาร์ดให้เป็นผู้นำทางด้านการจัดการศึกษาและการพัฒนาสังคมที่สร้างให้เกิดผลกระทบระดับโลก ทั้งทางด้านวิชาการองค์ความรู้ การลงมือในภาคปฏิบัติ และการแสวงหาทางออกให้กับปัญหาและการพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางการจัดการศึกษาทุกระดับของฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนกระทั่งระดับบัณฑิตศึกษา บูรณาการประสานสอดคล้องกันทั้งระบบ ทั้งการเรียนการสอนในห้องเรียน การพัฒนากิจกรรมนอกหลักสูตร การทำวิจัยสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้   

ปัจจุบันการจัดการศึกษาและการพัฒนาสังคมที่ส่งผลสร้างให้เกิดผลกระทบระดับโลกของฮาร์วาร์ดมีการขยายขอบเขตอย่างมากและมีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสนับสนุนเงินทุนขยายโอกาสทางการศึกษาดึงดูดเด็กนักเรียนสติปัญญาดีที่มาจากครอบครัวมีรายได้น้อยทั่วทุกมุมโลก ในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ1 การขยายศูนย์วิจัยและการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีส่วนร่วมพัฒนาประเด็นปัญหาสังคมในต่างประเทศ การส่งเสริมประชาคมมหาวิทยาลัยทำวิจัยในประเด็นที่เป็นความสำคัญระดับโลก เป็นต้น

ผมสังเกตว่า ช่วงหลังมานี้ การสร้างผลกระทบระดับโลกของฮาร์วาร์ดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการแสวงหาทางออกให้กับประเด็นปัญหาและการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ ทั้งใน ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือกับประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีพลังทางด้านเศรษฐกิจอย่างประเทศจีน รวมถึงประเทศขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกและมีพลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาใต้อย่างประเทศบราซิล จากข้อมูลเฉพาะปี ค.ศ. 2016 มีนักศึกษาฮาร์วาร์ดมากกว่า 300 คนร่วมทำวิจัยในประเทศบราซิลครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในป่าดิบชื้นแอมะซอน (Amazon rainforest) การพัฒนาระบบการศึกษา

นอกจากนี้ จากข้อมูลยังพบอีกว่ามากกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดมีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นถึงสองในสาม (two-thirds) ในจำนวนนี้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของประเทศบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา2  นักศึกษาเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการนำการพัฒนาสู่ประเทศบราซิล 

การจัดการศึกษาและการพัฒนาสังคมที่สร้างผลกระทบระดับโลกของฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญต่อการนำการพัฒนามาสู่พื้นที่ต่าง ๆ ผมวิเคราะห์ทิศทางการจัดการศึกษาและการพัฒนาสังคมของฮาร์วาร์ดที่มีพลังสามารถสร้างผลกระทบระดับโลกว่ามีอยู่ด้วยกัน ดังนี้    

ขยายขอบเขตความร่วมมือการพัฒนาสังคมสู่ระดับโลก ด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การจัดการศึกษา และการลงมือในภาคปฏิบัติ ร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรพันธมิตรหลากหลายในต่างประเทศ สร้างให้เกิดผลกระทบออกนอกกรอบมิติเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์เดิมขยายขอบเขตวงกว้างสู่ระดับโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายขอบเขตความร่วมมือสู่ศูนย์กลางพลังทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก อาทิ การร่วมมือทำวิจัยความมั่นคงทางด้านพลังงานและการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศจีน ส่งผลช่วยให้การสร้างผลกระทบการพัฒนาสังคมระดับโลกของฮาร์วาร์ดมีพลังมากยิ่งขึ้น   

เป็นผู้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคมระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง บูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อแสวงหาทางออกให้กับประเด็นปัญหาและการพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ สนองตอบทิศทางการพัฒนาฮาร์วาร์ดสู่การเป็นผู้นำทั้งทางด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง ที่มีส่วนสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ การสนับสนุนการทำวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกขณะนี้ เป็นต้น 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย 

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมบนพื้นฐานจุดแกร่งการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเอง ด้วยว่ามหาวิทยาลัยเป็นหัวหอกสำคัญในการนำทิศนำทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมพัฒนาชาติและท้องถิ่น อนาคตผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรขยายขอบเขตผลกระทบวงกว้างออกนอกกรอบมิติเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์เดิมสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ด้วยว่ามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ มีทรัพยากร และสรรพกำลัง สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้
โดยในที่นี้ผมเห็นว่า ทิศทางการจัดการศึกษาและการพัฒนาสังคมของมหาวิทยาลัยอย่างที่เคยทำกันมาในอดีตอาจจะไม่เพียงพอสำหรับภารกิจการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต มหาวิทยาลัยควรขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมิติประเด็นปัญหาความต้องการของสังคมและผลกระทบวงกว้าง อาทิ การพัฒนาความร่วมมือรูปแบบใหม่ ๆ ที่สร้างให้เกิดความแตกต่างและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคมหลากมิติ การสร้างสรรค์นวัตกรรมการวิจัยที่จะมีส่วนชี้ทิศนำทางสังคมและประชาคมโลก อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่งครับ 
 


1Harvard gazette. Reinforcement for Harvard – Brazil bridge. [online], accessed May 6, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/04/reinforcement-for-harvard-brazil-bridge/
2Ibid

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 36 วันที่ ศุกร์ 20 – พฤหัสบดี 26 พฤษภาคม 2559


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com 
แหล่งที่มาของภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-m4wuTpwK8ac/VS441_-7m-I/AAAAAAAAAzE/jjIZT9fE2vc/s1600/havard.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.