ฮาร์วาร์ดร่วมมือจัดกิจกรรมฮับวีคส่งเสริมนวัตกรรม

ปัจจุบันทั้งโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคสังคมความรู้ที่มีความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยแท้จริงในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการชี้ทิศนำทางพาสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสังคมความรู้ดังกล่าวนี้ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวนมากที่บ่มเพาะต่อยอดมาจากมหาวิทยาลัย

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ทั้งสะท้อนผ่านบรรยากาศการเรียนการสอนและการทำวิจัยภายในมหาวิทยาลัยและการสร้างสะพานเชื่อมต่อองค์ความรู้กับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

ตัวอย่างกิจกรรมที่เรียกว่า ฮับวีค (Hubweek) เทศกาลความคิดอันเกิดมาจากการร่วมมือกันระหว่างฮาร์วาร์ด หนังสือพิมพ์ เดอะบอสตัน โกลบ (The Boston Globe) โรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ตามที่ระบุในแหล่งข้อมูลของฮาร์วาร์ด เป็นกิจกรรมที่นำนักนวัตกร ผู้ปฏิบัติ และผู้สร้างหรือผู้ประดิษฐ์จากที่ต่าง ๆ เข้าร่วม สำหรับครั้งนี้องค์กรในเครือของฮาร์วาร์ดจะให้บริการในช่วงการเปิดงานสองวัน โดยมีกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจ เช่น

วันแรก พนักงานและอาจารย์จากฮาร์วาร์ดจะร่วมแสดงผลงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ภาษาขั้นสูงผ่านระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่ห้องสมุดวิทยาศาสตร์คาบอท (Cabot Science Library) และช่วงเย็นวันเดียวกันห้องปฏิบัติการนวัตกรรมฮาร์วาร์ด (Harvard i-Lab) จะเชิญผู้เข้าร่วมฮับวีคร่วมกิจกรรมที่ออลสตัน (Allston) เพื่อสนทนาพูดคุยกับผู้อำนวยการของศูนย์เบลเฟอร์ (Belfer Center) เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาล ธุรกิจ และวิชาการ ในการป้องกันสาธารณชนจากผลกระทบเชิงลบของการพัฒนาทางเทคโนโลยี

วันที่สอง กิจกรรมพิเศษในเครือของฮาร์วาร์ด 2 กิจกรรมจะจัดให้มีขึ้นที่บริเวณพื้นที่จัดงานหลักของฮับ (HUB main stages) กิจกรรมแรกเป็นการสนทนาพูดคุยกันระหว่างนักวิจัยวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดกับแพทย์และผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ การสนทนาพูดคุยดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการวิจัย การปฏิบัติ และการประยุกต์กับมุมมองของกลุ่มคนที่ทำวิจัย การรักษาผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเอง กิจกรรมที่สองหัวหน้าบรรณาธิการของ ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) จะสำรวจวิธีการที่ผู้นำทางธุรกิจตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและบทบาทของพวกเขาในการสื่อสารและการอภิปรายนโยบายสาธารณะ[1] กิจกรรมเหล่านี้เปิดโอกาสให้ทั้งประชาคมมหาวิทยาลัยและกลุ่มบุคคลทั่วไปเข้าร่วมได้

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้นานมากแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในหนังสือ ศึกษิตแห่งศตวรรษที่ 21 : แนวคิดปฏิรูปการศึกษาไทย เกี่ยวกับการปฏิรูปการวิจัยและพัฒนามองว่า การลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ การวิจัยมีประโยชน์อยู่หลายประการ เช่น พัฒนาความรู้ ทำให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ เกิดการพัฒนาในด้านผลผลิตให้มีคุณค่ามากขึ้น สร้างศักยภาพของประเทศเพื่อพึ่งตนเองบนพื้นฐานความสามารถของไทยเราเอง เป็นต้น[2] ปัจจุบันความคิดดังกล่าวนี้ยังเป็นจริงด้วยว่าการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรม มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีบทบาทสำคัญต่อการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าวนี้ เช่น การเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกร สร้างบรรยากาศกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทั้งภายในมหาวิทยาลัยไหลสู่ภายนอก สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทุกระดับของสังคม ขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยี มิใช่ผู้ซื้อเทคโนโลยี เป็นต้น

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2539). ศึกษิตแห่งศตวรรษที่ 21 : แนวคิดปฏิรูปการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : ซัคเซส

มีเดีย.

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/10/harvard-partners-with-hubweek-once-more/

[2] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ศึกษิตแห่งศตวรรษที่ 21 : แนวคิดปฏิรูปการศึกษาไทย (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2539), หน้า 165-168.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ 2 – พฤหัสบดี 8 พฤศจิกายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.