ฮาร์วาร์ดพัฒนางานเชื่อมต่อด้านพันธุศาสตร์กับฐานข้อมูลขนาดใหญ่

ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลต่อการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่มีความเจริญก้าวหน้าไปด้วย ทั้งด้านการผลิต การเข้าถึง การจัดเก็บ และการกระจายข้อมูล ซึ่งสามารถทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมหาศาลที่รู้จักกันว่า big data ซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้หากรู้จักนำมาใช้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เช่นกัน เช่นกรณีที่เว็บไซต์ของฮาร์วาร์ดนำเสนอเกี่ยวกับหลักสูตรพันธุศาสตร์เชิงปริมาณ (Program in Quantitative Genomics)[1] แห่งวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) โดยหลักสูตรนี้มุ่งสนองตอบความจำเป็นเชิงปริมาณในการจัดการกับข้อมูลทางพันธุศาสตร์ จีโนมิกส์ และข้อมูลโอมิก (omic data) ในพื้นที่ทางการแพทย์ที่ฮาร์วาร์ดชานและลองวูด (Harvard Chan and Longwood Medical Area)

หลักสูตรพันธุศาสตร์เชิงปริมาณมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสุขภาพผ่านทางการศึกษาข้ามศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์ พฤติกรรม สภาพแวดล้อม และการแพทย์ ด้วยการพัฒนาและประยุกต์วิธีการเชิงปริมาณและการฝึกอบรมข้ามศาสตร์ทางด้านจีโนมิกส์เชิงปริมาณ การให้บริการวิชาการของหลักสูตรพันธุศาสตร์เชิงปริมาณที่กล่าวถึงนี้ ประกอบด้วย การจัดการศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การวิจัยในพื้นที่การศึกษาสำคัญ เช่น ยีนและสภาพแวดล้อม จีโนมิกส์ทางการแพทย์ และการจัดสัมมนาและกิจกรรมพิเศษ ฯลฯ อันมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและองค์ความรู้ในด้านดังกล่าวนี้

ล่าสุดแหล่งข่าวของฮาร์วาร์ดระบุว่า หลักสูตรพันธุศาสตร์เชิงปริมาณเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมสำคัญเป็นเวลา 2 วัน การประชุมดังกล่าวนี้นำผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับอุปสรรคในการทำงานกับข้อมูลทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญและจัดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลายแหล่ง เช่น ธนาคารชีวะของสหราชอาณาจักรทำการจัดเก็บเลือด ปัสสาวะ และตัวอย่างอื่น ๆ ของกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่จำนวนกว่า 500,000 คน ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่งต่อนักวิจัยและแวดวงทางวิชาการในการนำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปใช้ประโยชน์[2]

            การบริหารจัดการข้อมูลที่มีขนาดใหญ่นับว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับยุคปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลหลายแหล่งชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่จะเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการ ขณะที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายแห่งมีการให้ความสำคัญประเด็นดังกล่าวนี้มากขึ้น ดังเช่นฮาร์วาร์ดตามที่กล่าวมา

            กรณีมหาวิทยาลัยไทยควรปรับตัวเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับการจัดการศึกษาและการทำวิจัยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญดังกล่าวนี้ควรมีส่วนเตรียมความพร้อมให้กับสังคมทั้งการผลิตกำลังคนและองค์ความรู้ เช่น การทำวิจัยเชิงอนาคตขยายขอบเขตปริมาณความรู้ทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทยเราเอง โดยให้มีการเชื่อมโยงกับสาขาวิชาต่าง ๆ เตรียมพร้อมองค์ความรู้สำหรับอนาคต ครับ

 

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.hsph.harvard.edu/pqg/about/

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/public-health-embraces-the-messy-world-of-big-data/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ 21 – พฤหัสบดี 27 ธันวาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.