ฮาร์วาร์ดบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นเยาว์

ผู้ประกอบการมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หลายประเทศทั่วโลกทั้งในยุคอดีตและปัจจุบันต่างให้คุณค่าความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาด้านการประกอบการ (Entrepreneurship Education) อาทิ เกาหลีใต้ สวีเดน เดนมาร์ก สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร (เวลล์) นอร์เวย์ เป็นต้น ด้วยมุ่งหวังว่าผู้ประกอบการจะเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกามีการเตรียมพร้อมพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน จนกระทั่งระดับมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจรองรับกลุ่มนักศึกษาทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ในที่นี้หลายมหาวิทยาลัยมีการเชื่อมต่อกับระดับขั้นพื้นฐานเตรียมพร้อมพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการให้แก่เด็กนักเรียน และด้วยหวังว่าการเชื่อมต่อดังกล่าวนี้จะเป็นหนทางดึงดูดเด็กนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วยอีกทางหนึ่ง

ผมสังเกตว่า ฮาร์วาร์ดตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ที่ผ่านมาจึงริเริ่มดำเนินโครงการที่มีส่วนเสริมสร้างและพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาและเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาท้องถิ่นที่มีความใฝ่ฝันและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ด้วยการให้การสนับสนุนแก่เด็กนักเรียนฯ เหล่านี้ในการริเริ่มดำเนินธุรกิจของตนเอง โดยล่าสุดที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนฯ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้ถึง 30 คน1 เป็นโอกาสมอบทั้งความสนุกสนาน แรงบันดาลใจ และสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการสานฝันริเริ่มดำเนินธุรกิจให้แก่เด็กนักเรียนฯ เหล่านี้

ผมวิเคราะห์ความน่าสนใจของโครงการเสริมสร้างและพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนฯ ของฮาร์วาร์ดว่ามีอยู่ด้วยกันในเป็นประเด็นสำคัญดังนี้

เสริมสร้างความรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการ เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการการเป็นผู้ประกอบการ ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ได้ฝึกระบุปัญหาและแสวงหาทางออก เป็นต้น การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเหล่านี้เป็นสิทธิพิเศษหรือโอกาสทองสำหรับเด็กนักเรียนฯ ที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการริเริ่มดำเนินธุรกิจของตนเองจากบุคลากรที่มากด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของฮาร์วาร์ด  

เพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นประสบการณ์ที่ยากจะสามารถหาได้จากในชั้นเรียนปกติ คุ้มค่าในการจดจำ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเรียนรู้สู่ระดับที่สูงขึ้นได้ การเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ยิ่งต่อเด็กนักเรียนฯ ที่เข้าร่วม เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะช่วยพัฒนาทัศนคติและทักษะสำคัญต่อการเป็นผู้ประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนฯ เหล่านี้ด้วยอีกทางหนึ่ง อาทิ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร การมีความคิดแง่บวก การมีความมั่นใจในตนเอง เป็นต้น

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

โครงการเสริมสร้างและพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนฯ ของฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างรูปธรรมอย่างหนึ่งของแนวคิดการศึกษาฐานเศรษฐกิจ (economic-based education)2 หรือการศึกษาที่สามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจของทั้งตัวผู้เรียน สถาบันการศึกษา และประเทศชาติสังคม ตามที่ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหลายเวที เป็นประโยชน์ยิ่งต่อมหาวิทยาลัยในการนำมาพัฒนาต่อยอดเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต3 สู่การเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียน เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต 
ผมเห็นว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งมีความพยายามขับเคลื่อนผลักดันในเรื่องดังกล่าวนี้ อาทิ ความพยายามจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ส่งเสริมประชาคมมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ การร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นผู้ประกอบการควรเริ่มตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งระดับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดการศึกษาดังกล่าวนี้ อาทิ การสร้างสะพานเชื่อมต่อกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียน อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวผู้เรียนและสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเตรียมกำลังคนที่สำคัญของประเทศอีกทางหนึ่งครับ
 


1Jennifer Doody. A place where startups begin. [online]. accessed May 12, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/05/a-place-where-startups-begin/
2การศึกษาฐานเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักพื้นฐานการสร้างคน 9 ประการ ซึ่งนำเสนอในการบรรยายหัวข้อ การบริหารการจัดการศึกษาแนวใหม่หรือในอนาคต จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วันพฤหัสบดี 31 มกราคม 2556 และในการบรรยายตามที่ต่าง ๆ 
3เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์. คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2542), หน้า 194.
 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 37 วันที่ ศุกร์ 27 พฤษภาคม – พฤหัสบดี 2 มิถุนายน 2559


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com 
แหล่งที่มาของภาพ : https://uofa.ualberta.ca/arts/-/media/arts/news/2016/prachi-story3.jpg?w=1200

Leave a Reply

Your email address will not be published.