ฮาร์วาร์ดทำข้อตกลงความร่วมมือกับเฟสบุ๊คสร้างโอกาสด้านการวิจัย

การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนภารกิจวิจัยภายในมหาวิทยาลัย กระตุ้นให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิจัยที่มีคุณภาพระดับสูงป้อนสู่สังคม นักศึกษามีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ทักษะการทำวิจัยจากคณาจารย์ที่มากด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ทางด้านการวิจัย โดยมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการวิจัยที่ทันสมัยอย่างเพียงพอและสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาทำวิจัยกันอย่างจริงจัง ส่งผลทำให้ฮาร์วาร์ดจึงมีผลงานวิจัยแต่ละสาขาวิชาออกมาอย่างต่อเนื่อง

การทำวิจัยของฮาร์วาร์ดมิเพียงส่งผลกระทบต่อเฉพาะแวดวงวิชาการเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อแวดวงของการปฏิบัติด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อการวิจัยกับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีผลกระทบระดับสูง เป็นพันธมิตรความร่วมมือทางด้านการวิจัยกับกลุ่มบริษัทชั้นนำ อาทิ กลุ่มบริษัททาทา กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์  บีเอเอสเอฟ (BASF) อีโวเทค (Evotec) (Perry, 2016)

ล่าสุดที่ผ่านมา สำนักงานการพัฒนาเทคโนโลยีของฮาร์วาร์ด (Harvard’s Office of Technology Development) ทำสัญญาหรือข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการวิจัยกับเฟสบุ๊ค (Facebook) สัญญาหรือข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวนี้เป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้คณาจารย์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัยหลังปริญญาเอก ของฮาร์วาร์ด มีโอกาสทำวิจัยในโครงการวิจัยร่วมกับหรือได้รับทุนวิจัยจากเฟสบุ๊คอย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยฮาร์วาร์ดเป็นสถาบันวิชาการ ที่เซ็นต์ลงนามสัญญารับทุนวิจัยเชิงวิชาการของเฟสบุ๊ค (Facebook’s Sponsored  Academic Research Agreement (SARA)) ดังกล่าวนี้ (Perry, 2016)

นอกจากนี้ การทำสัญญาหรือข้อตกลงความร่วมมือกันยังเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์สังคม และวิศวกรไฟฟ้าของฮาร์วาร์ด ประชุมร่วมกับนักวิจัยภายในของเฟสบุ๊คเป็นประจำอีกด้วย (Perry, 2016)

การเป็นพันธมิตรความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างฮาร์วาร์ดและเฟสบุ๊คครั้งนี้คาดว่าจะสร้างผลกระทบส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายประชาคมนักวิจัยคุณภาพ เป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้และทักษะระหว่างกัน และเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรม อันจะสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการใช้ประโยชน์การวิจัยในเชิงพาณิชย์น้อย มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนที่มีผลกระทบสูง โดยมหาวิทยาลัยควรเริ่มต้นจากการพัฒนาศักยภาพทางด้านการวิจัยของตนเองให้สามารถดึงดูดภาคเอกชนเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับโลก อาทิ ฮาร์วาร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นต้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์และมีศักยภาพทางด้านการวิจัยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนักวิจัยที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาทำวิจัยกันอย่างจริงจัง ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการวิจัยที่ทันสมัยอย่างเพียงพอ

นอกจากการสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยกับภาคเอกชนจะส่งเสริมให้เกิดต่อยอดใช้ประโยชน์การวิจัยในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นช่องทางสำคัญที่มหาวิทยาลัยสามารถใช้พัฒนาและเปลี่ยนผ่านทักษะการวิจัยให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัย อันเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญของการเตรียมนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะการวิจัยเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีส่วนกระจายองค์ความรู้สู่สังคม และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันกำลังเป็นทิศทางสำคัญของการพัฒนาประเทศอยู่ ณ ขณะนี้

รายการอ้างอิง
Perry, Caroline. (2016, December 21). A platform for rapid innovation, New agreement
streamlines Harvard research collaborations with Facebook. Retrieved from

A platform for rapid innovation


ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://img-s2.onedio.com/id-521201fc4fd8e7ff33000037/rev-1/bound/w-800/s-95c5a726d370eac971dca49bd2af1a1e30ba2624.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.