ฮาร์วาร์ดจับมือศูนย์วิจัยในฝรั่งเศสส่งเสริมนักศึกษาทำโครงการพัฒนาเมือง

    ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการสร้างความร่วมมือทั้งระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานหรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญภายนอก โดยคาดหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นบริบทช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความเจริญงอกงามทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ส่งผลทำให้ที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดจึงมีการริเริ่มสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ และพัฒนาให้มีความหลากหลายอยู่เสมอ อาทิ การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ที่รู้จักกันในชื่อ edX ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ปัจจุบันหลักสูตรออนไลน์ดังกล่าวนี้ได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อ

เสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University ) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University ) มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (Hong Kong University of Science & Technology) มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) เป็นต้น 
    ล่าสุด วิทยาลัยภาคฤดูร้อนแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard summer school) ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือกับศูนย์วิจัยและสหวิทยาการในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Centre de Recherches Interdisciplinaires หรือ Center for Research and Interdisciplinarity) ที่เรียกว่า ไบโอโพลิส (The Biopolis)1  อันเป็นโครงการความร่วมมือที่บูรณาการเชื่อมโยงหลักชีววิทยาโมเลกุล เซลล์ และวิวัฒนาการ เข้ากับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart cities) เปิดโอกาสให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดมีโอกาสทำงานวิจัยและวางแผนออกแบบเมืองอัจฉริยะในภาคปฏิบัติ เพื่อการจัดการประเด็นปัญหาและความท้าทายของเมืองปารีสร่วมกับนักศึกษาฝรั่งเศสจากศูนย์วิจัยและสหวิทยาการในเมืองปารีส โดยโครงการดังกล่าวนี้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในช่วงการศึกษาภาคฤดูร้อน ปี ค.ศ. 2015 มีนักศึกษาฮาร์วาร์ดเข้าร่วมทั้งหมด 24 คน โดยนักศึกษาแต่ละคนจะต้องทำงานเป็นทีมแบบสหวิทยาการร่วมกับนักศึกษาฝรั่งเศสจากศูนย์วิจัยและสหวิทยาการเป็นระยะเวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์ แบ่งเป็น 12 ทีมตามประเด็นความสนใจของนักศึกษา ประกอบด้วย การไหลของคนและระบบนำทาง (Circulation and Wayfinding) พื้นที่สาธารณะ ขยะ โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) กิจกรรมของผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่ (User Activity) เฟอร์นิเจอร์ประดับถนน (Street Furniture) ผลกระทบของโครงการก่อสร้าง การค้าปลีก ห้องน้ำ สถาปัตยกรรมและรูปทรง การโฆษณา ศิลปะสาธารณะ และป้ายโฆษณา  เป็นต้น
    ไบโอโพลิสมีลักษณะที่น่าสนใจอยู่หลายประการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยไทยในการศึกษาและนำมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบกิจกรรมพัฒนานักศึกษา ดังนี้ 
    ส่งเสริมนักศึกษาทำงานแบบสหวิทยาการ ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาและทดสอบความคิดของตนอย่างเป็นระบบผ่านการทำวิจัยและออกแบบโครงการพัฒนาเมือง อันเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการขนาดย่อมที่ให้นักศึกษาได้ฝึกฝน เชื่อมโยง และประยุกต์ทฤษฏีสู่การปฏิบัติในบริบทสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง ในที่นี้ได้แก่การเชื่อมโยงและประยุกต์หลักชีววิทยาโมเลกุล เซลล์ และวิวัฒนาการ เข้ากับการออกแบบเมืองอัจฉริยะ เพื่อการจัดการประเด็นปัญหาของเมืองตามความสนใจของนักศึกษา กระตุ้นให้เกิดการทำงานแบบสหวิทยาการ บูรณาการข้ามศาสตร์ เนื่องจากการใช้ความรู้หรือทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเมืองได้อย่างครบถ้วน ทำให้จำเป็นต้องขยายขอบเขตการเชื่อมโยงไปยังศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง 
    เปิดโอกาสให้นักศึกษาสร้างสรรค์โครงงานพัฒนาเมือง บนพื้นฐานหลักคิดที่เปรียบเมืองเป็นเสมือนสิ่งมีชีวิต ด้วยการสร้างบริบทที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นทีม คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ออกแบบโครงการพัฒนาที่จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองปารีสร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว การทำโครงการของนักศึกษาครั้งนี้ต้องผ่านกระบวนการศึกษาปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูล ทำวิจัยอย่างเข้มข้น กลั่นกรอง และตกผลึกจนออกมาเป็นโครงการพัฒนาที่สามารถใช้ได้จริงในภาคปฏิบัติ 
    เป็นบริบทพัฒนาทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรมให้แก่นักศึกษา ด้วยการออกแบบให้นักศึกษาแต่ละคน มีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย อันได้แก่ นักศึกษาฝรั่งเศสจากศูนย์วิจัยและสหวิทยาการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ และประชาชนในเมืองปารีส โดยทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น อันจะเป็นบริบทสำคัญที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานข้ามวัฒนธรรม ได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้  ความคิด และวิถีการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย 
    ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
    มหาวิทยาลัยควรสร้างสรรค์บริบทหลากหลายในการพัฒนานักศึกษาโดยให้มีการเชื่อมโยงบริบทดังกล่าวเข้ากับการพัฒนาชาติและท้องถิ่นบนพื้นฐานจุดแกร่งการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตน  อาทิ การออกแบบให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทำโครงการวิจัยแบบสหวิทยาการในประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศหรือการทำโครงการวิจัยพัฒนาข้ามพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในการทำโครงการ  อาทิ การสนับสนุนให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือทำวิจัยพัฒนาพื้นที่ทางภาคใต้ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานหรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทำโครงการวิจัยพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่นในแต่ละประเทศร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งโครงการพัฒนาดังกล่าวนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับการพัฒนา ความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต2  ซึ่งในที่นี้รวมถึงการมีทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรมในบริบทของสภาพแวดล้อมผ่านการปฏิบัติงานจริง เพื่อหล่อหลอมการสร้างนักศึกษาให้เป็นคนที่สมบูรณ์คือ การมุ่งยกระดับจิตใจผู้เรียนไปสู่การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ควบคู่ไปกับการอยู่เพื่อส่วนรวม3 


1Harvard University. The Biopolis. [Online]. accessed September 29, 2015, available from http://thebiopolis.com/2015/08/13/learn-more-about-the-biopolis/
2เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์. คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2542, หน้า 194. 
3แนวคิดอัตตา ชีวา และปวงประชา นำเสนอใน เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์. ศึกษิตแห่งศตวรรษที่ 21: แนวคิดการปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2539, หน้า 52 – 56. 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 4 วันที่ 9-15 ตุลาคม 2558
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
 

แหล่งที่มาของภาพ : http://sharpmindsolutions.com/wp-content/uploads/2014/02/Fotolia_33826787_M.jpg