ฮาร์วาร์ดกับมโนทัศน์หนังสือสังคมพหุเอกานิยมของผม

     ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มผู้เรียน โดยในที่นี้แต่ละปีจะมีนักเรียนนักศึกษาสติปัญญาดีเลิศทั่วโลกจำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในรั้วฮาร์วาร์ด เฉพาะรุ่น 2019 (class of 2019) มีถึงร้อยละ 11.6 ที่เป็น

นักศึกษาที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน (African-Americans) ร้อยละ 21.1 เป็นนักศึกษาที่มีเชื้อสายเอเชียนอเมริกัน (Asian-Americans) ร้อยละ 13 เป็นนักศึกษาที่มีเชื้อสายลาติโนหรือฮิสแปนิก (Latinos or Hispanics) และร้อยละ 1.5 เป็นนักศึกษาที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกันหรือนักศึกษาที่เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะแปซิฟิก (Native Americans or Pacific Islanders) เป็นต้น นอกจากนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาฮาร์วาร์ดพบว่า มีนักศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่าตนได้สนทนาพูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาที่มีความแตกต่างทางด้านพื้นภูมิหลังทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์บ่อยครั้งมาก และมีถึงร้อยละ 84 ที่ระบุว่า การได้เกี่ยวโยงหรือการได้ทำงานหรือเรียนร่วมกับผู้ที่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ความเป็นชาติ และความเชื่อทางศาสนา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมาก2  

     ความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนฮาร์วาร์ดทั้งทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ พื้นหลังของความเป็นชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อดังกล่าวนี้ มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการต่อยอดก่ายกันขึ้นทางด้านสติปัญญาและองค์ความรู้ เช่นนี้แล้ว สำหรับฮาร์วาร์ดความแตกต่างหลากหลายจึงเป็นโอกาส มิใช่เป็นอุปสรรค และเป็นความสำคัญจำเป็นยิ่งที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัย

     ผมวิเคราะห์ว่า การให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของฮาร์วาร์ดสะท้อนลักษณะความเป็นสังคมพหุเอกานิยมตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย3 บางระดับ ดังนี้

     สร้างบรรยากาศพหุเอกานิยมผสมเกสรความคิด เช่น การให้ความสำคัญกับสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัย เฉพาะรุ่น 2019 พบว่า มีถึงร้อยละ 11.64  ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายว่าเป็นหัวใจของพันธกิจด้านวิชาการของตนเอง (academic mission5)  ความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนี้มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความรู้และความคิดใหม่ ๆ อีกทั้งยังทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษามีมิติความลึกซึ้งและสมจริงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาทั้งในบริบทการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยและการเตรียมพร้อมเข้าสู่บริบทของการทำงานในอนาคต      

     นำความแตกต่างหลากหลายมาสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ ทำให้เกิดบรรยากาศการต่อยอดก่ายกันขึ้นทางด้านวิชาการและองค์ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบบรรยากาศการเรียนการสอนและการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่กระตุ้นให้นักศึกษาแต่ละคนนำความแตกต่างหลากหลายของตนเองมาเสริมสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น การเน้นวิธีการเรียนรู้แบบกลุ่มศึกษา (group study) เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงทัศนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน

     การให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของฮาร์วาร์ดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศความเป็นสากลภายในรั้วมหาวิทยาลัย โดยในที่นี้จะเห็นได้จากการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ของฮาร์วาร์ด เช่น การมีโปรแกรมการศึกษาต่างประเทศที่จัดโดยสำนักงานการศึกษานานาชาติ (Office of International Education) อยู่ราว 250 โปรแกรม การมีกองทุนนวัตกรรมเพื่อประสบการณ์นานาชาติของอธิการบดีดรูว์ กิลพิน เฟาส์ต (President Faust’s Innovation Fund for International Experiences) บรรยากาศความเป็นสากลเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ฯลฯ

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย 

     ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมีความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนมากนัก แต่มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศพหุเอกานิยมผสมเกสรความคิด ทำให้เกิดการก่ายกันขึ้นทางปัญญา แต่ละคนรู้จักนำส่วนดีของกันและกันมาใช้ประโยชน์โดยปราศจากอคติ การกีดกันทางความคิด6 เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับบริบทที่ต้องเชื่อมต่อกับอาเซียนและสากลมากขึ้นในอนาคต เช่น ควรส่งเสริมให้มีเวทีพบปะพูดคุยทางปัญญาทั้งแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการภายในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาแต่ละคนนำความแตกต่างหลากหลายของตนเองมาเสริมสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเน้นวิธีการเรียนรู้แบบกลุ่มศึกษา ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน พร้อมกับสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการผสานความรู้และความคิดระหว่างนักศึกษา เช่น การพูดคุยถกเถียงกันด้วยการเปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ให้เสรีภาพผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาความคิด และแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวว่าความคิดเห็นของตนจะไม่เป็นที่ยอมรับ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดความคิดและความรู้ เป็นสภาพแวดล้อมสำคัญที่จะนำสู่การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไป


1เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย. พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย, 2542).
2Alvin Powell, Support for a diverse student body [Online], accessed February 22, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/02/support-for-a-diverse-student-body/
3เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย.
4Alvin Powell, Support for a diverse student body.
5Ibid.
6เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย, หน้า 59.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 63 ฉบับที่ 25 วันที่ ศุกร์ 4 – พฤหัสบดี 10 มีนาคม 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

Leave a Reply

Your email address will not be published.