ฮาร์วารดเปิดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยภาคปฏิบัติ

การพัฒนามหาวิทยาลัยของฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วม อันส่งผลช่วยให้การพัฒนามหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบความต้องการของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นบริบทที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานวิชาการ การพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษามากที่สุด การเปิดโอกาสให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้มีอยู่หลากหลายลักษณะด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบให้มีหลากหลายช่องทางสำหรับรับความคิดเห็นของประชาคมมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดประกวดแข่งขันออกแบบพื้นที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น อันจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต เป็นต้น

เช่นเดียวกันล่าสุดที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยและคณะกรรมการกำกับตรวจสอบ (Board of Overseers) ของฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีให้ประชาคมมหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย บุคลากรสายวิชาการ พนักงานมหาวิทยาลัย และนักศึกษา ตลอดทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิชาการ การพัฒนามหาวิทยาลัย และการแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ในลักษณะของการประชุมเชิงปฏิบัติการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นกลุ่มสนทนาขนาดเล็ก ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สำหรับเป็นช่องทางเปิดรับความคิดเห็นและแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกันระหว่างประชาคมมหาวิทยาลัย กิจกรรมดังกล่าวนี้จัดโดยคณะทำงานเฉพาะกิจชื่อว่า คณะทำงานเฉพาะกิจด้านการผนวกและความเป็นเจ้าของ  จัดตั้งโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อระบุถึงอุปสรรคของการสร้างสภาพแวดล้อมและการชี้แนะทางออกในด้านดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ (Laidler, 2017)  

การประชุมเชิงปฏิบัติการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันครั้งนี้มีส่วนสำคัญต่อการช่วยให้การพัฒนามหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบความต้องการของประชาคมมหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นเวทีกระตุ้นให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิด สะท้อนแง่มุมที่มีความแตกต่างหลากหลายจากบุคลากรคุณภาพของมหาวิทยาลัย ช่วยให้มหาวิทยาลัยมีมุมมองการพัฒนาที่ครบถ้วนรอบคอบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทสภาพแวดล้อมอนาคตที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อน ความหลากหลายของวิทยาการความรู้ และความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  

ด้วยเหตุนี้เอง การคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ฮาร์วาร์ดสามารถตอบโจทย์ความต้องการทางด้านวิชาการและการเป็นประชาคมมหาวิทยาลัยได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

graduation-1695185__480ประยุกต์มหาวิทยาลัยไทย

ในบริบทโลกยุคอนาคตที่มีความสลับซับซ้อนและกระแสเรียกร้องคุณภาพเข้มข้น การเปิดโอกาสให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการจะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย สร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นประโยชน์สนับสนุนให้การพัฒนามหาวิทยาลัยมีความครบถ้วนรอบคอบมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างให้เกิดธรรมาภิบาล (Good Governance) ภาคปฏิบัติ ทำให้การเรียนรู้ธรรมาภิบาลมิเป็นเพียงแนวคิดที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ แต่มีรูปธรรมภาคปฏิบัติที่ชัดเจนรองรับ เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างของการสร้างธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยที่สำคัญ และเป็นช่องทางการปลูกฝังสร้างค่านิยมประชาธิปไตยให้แก่นักศึกษาด้วยอีกทางหนึ่ง มหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมดังกล่าวนี้ได้หลากหลายช่องทางตามบริบทมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ด อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนางานวิชาการและการพัฒนามหาวิทยาลัย

 

รายการอ้างอิง

Laidler, John. (2017, April 4). Toward a more welcoming campus. Retrieved fromhttp://news.harvard.edu/gazette/story/2017/04/harvard-afternoon-of-engagement-will-relay-progress-seek-input-on-inclusiveness-issues/

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ 28 เมษายน – พฤหัสบดี 4 พฤษภาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ http://bit.ly/2rpYie7, http://bit.ly/2rptvgQ, http://bit.ly/2pT2j9V

Leave a Reply

Your email address will not be published.