อิทธิพลของนักท่องเที่ยวจีนต่อเศรษฐกิจไทย

นับเป็นเรื่องน่ายินดีกับความสำเร็จของภารกิจการช่วยเหลือ “ทีมหมูป่า อคาเดมี” ออกจากถ้ำหลวง แต่น่าเสียดายที่ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 47 ราย ทำให้คนไทยไม่อาจแสดงความยินดีได้อย่างเต็มที่นัก

ผมได้ทบทวนข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ความไม่ปลอดภัยเป็นจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทย ดังข้อมูลจากนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ที่ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตในไทยในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนถึง 103 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากจมน้ำเสียชีวิต อุบัติเหตุทางน้ำ อุบัติเหตุจากการจราจร รถชน รถทัวร์พลิกคว่ำ โดยมีเหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แม้กระทั่งอุบัติเหตุช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 ที่จังหวัดพังงา ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต

คำถามสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับกลุ่ม “นักท่องเที่ยวจีน”

แม้ว่าเรื่องความไม่ปลอดภัยจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด ทว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีน เช่น การไม่บังคับใช้กฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด หรือเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทท่องเที่ยวเถื่อน นักท่องเที่ยวไม่เคารพเชื่อฟังที่จะปฏิบัติตามกฎ กติกาต่างๆ การขาดการบูรณาการระหว่างองค์กรเพื่อสร้างมาตรฐานสากลของการท่องเที่ยวไทย เป็นต้น

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย โดยมีรายได้ทางตรงจากการท่องเที่ยว 36,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.22 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยคิดเป็นร้อยละ 9.2 ของจีดีพี

ขณะที่รายได้ทั้งหมด ทั้งทางตรง ทางอ้อม และรายได้อื่นๆ จากการท่องเที่ยว มีมูลค่ากว่า 82,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.75 ล้านล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก และ อันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20.6 ของจีดีพี

เมื่อพิจารณารายได้จากนักท่องเที่ยวจีน สถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทยมากที่สุดในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ด้วยจำนวน 8.7 ล้านคน และ 9.8 ล้านคนตามลำดับ โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวมาจากนักท่องเที่ยวจีนมากเป็นอันดับ 1 โดยในปี พ.ศ. 2559 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.06 ของจีดีพีประเทศ

รายงาน “อนาคตของนักท่องเที่ยวจีน” ของอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป ประเมินว่า รายได้ของไทยจากนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มสูงขึ้นราว 8.3 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2566 จาก 4.4 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

เพราะฉะนั้น หากนักท่องเที่ยวจีนลดลง จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น รายได้โดยรวมจากการท่องเที่ยวจะลดลง และไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนแตกต่างจากนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกา กล่าวคือ นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวตลอดทั้งปี ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาที่มามากในช่วงต้นปีและปลายปีเท่านั้น

นักท่องเที่ยวจีนยังนิยมเดินทางเป็นกลุ่มด้วยตัวเอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า FIT (Free and Independent Traveler) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีถึงร้อยละ 60 ขณะที่อีกร้อยละ 40 เป็นการเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยผู้ที่ท่องเที่ยวแบบ FIT มักเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นความปลอดภัยและมาตรฐานสากลจึงยิ่งจำเป็นมากขึ้น

ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวจีนลดลง จะทำให้การจัดการของธุรกิจท่องเที่ยวยากขึ้น เพราะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวน้อยมาก การบริหารพนักงาน และทรัพยากรต่างๆ จะยากมากขึ้น เป็นต้น

ที่ผ่านมา แม้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมาก ในบทบาทของนักท่องเที่ยว รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวจีนที่ไปสร้างปัญหาในแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว เช่น จีนประกาศใช้กฎหมายท่องเที่ยว เพื่อคุมเข้มไม่ให้มี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” และพฤติกรรมบังคับซื้อของหรือเพิ่มจุดแวะซื้อของระหว่างการท่องเที่ยว หรือการจัดทำคู่มือนักท่องเที่ยวผู้มีอารยธรรม ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้น

สำหรับบทบาทของเจ้าของบ้าน ผมมองว่าทุกภาคส่วนของไทยทั้งรัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจต้องคำนึงถึงปัญหานี้ และเร่งบริหารจัดการอย่างยิ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือด้านการท่องเที่ยวกลับคืนมา รวมทั้งมีส่วนช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวให้เข้มแข็งได้ เพื่อให้คงไว้ซึ่งประโยชน์จากรายได้จากการท่องเที่ยว

สุดท้าย ผมขอเสนอการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ซึ่งไม่เพียงแต่การรักษานักท่องเที่ยวจีนไว้เท่านั้น แต่รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกชาติไว้ด้วย เพราะเวลานี้เป็นโอกาสอันดี ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจประเทศไทยผ่านหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ผมขอเสนอแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเป็นมิติต่างๆ ตามแนวคิด Dr. Dan Can Do 4 Wins Model ดังต่อไปนี้

มิติที่ 1 ส่วนตัว – พัฒนาความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิตเพื่อรองรับความต้องการด้านการท่องเที่ยว

มิติที่ 2 ส่วนเรา – เผยแพร่จุดแข็งของความเป็นไทยผ่านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวบนสื่อสังคมออนไลน์

มิติที่ 3 ส่วนร่วม – ยกระดับการท่องเที่ยวผ่านการสร้างเครือข่าย ระดมความคิด คน ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ ท้องถิ่น

มิติที่ 4 ส่วนรวม – ร่วมมือกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนรูปแบบใหม่ๆ

ทั้งนี้ ผมจะลงรายละเอียดของข้อเสนอเหล่านี้ในบทความต่อไป

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.