อนาคตเศรษฐกิจโลก (2): เศรษฐกิจบนฐานโลกาเทศาภิวัตน์

    ในบทความครั้งที่แล้วผมได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกไปประการหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงจากโลกที่มีขั้วอำนาจเดียวไปเป็นโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งผมขอเสนอชื่อใหม่ว่า “เศรษฐกิจบนฐานถิ่นโลกภิวัตน์” (Glocalization)

    เศรษฐกิจบนฐานถิ่นโลกภิวัตน์ หรือ เศรษฐกิจระดับโลกบนฐานท้องถิ่น (Glocalization) ได้รับอิทธิพลจาก 2 กระแส คือ เศรษฐกิจบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization) และเศรษฐกิจบนฐานท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) 
    โลกาภิวัตน์ (Globalization) จะเป็นกระแสหลักของเศรษฐกิจโลกในอนาคต โลกจะมีความเป็นโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นในทุกด้าน (แผนภาพที่ 1) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศทั่วโลกพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยม ซึ่งทำให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีความเสรีมากขึ้น มีการจัดทำกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน ทำให้การผลิตสินค้าและให้บริการต้องมีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งมีการขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะทำให้สังคมโลกเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมโลก และทำให้ความรู้สึกเป็นประชาชนของรัฐชาติลดลง (Canton, 2015) 
    ขณะที่กระแสท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) เป็นความพยายามรักษาบริบทเดิมทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสโลภิวัตน์ โดยเอกลักษณ์บางส่วนอาจผสมผสานกับค่านิยมและวัฒนธรรมโลกก็เป็นได้ นอกจากนี้กระแสท้องถิ่นภิวัตน์บางส่วนยังอาจหมายถึง ปฏิกิริยาต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-globalization) ซึ่งพยายามรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น (local identity) ของตนเองเอาไว้ 
    ดังนั้นคำว่า ถิ่นโลกภิวัตน์ (Glocalization) จึงหมายถึง กลยุทธ์ของบริษัทที่ทำการผลิตสินค้าและบริการที่ซึ่งผลิตและกระจายทั่วโลก แต่สนใจผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการนี้ให้สอดคล้องกับความชอบของคนในท้องถิ่น หรือ กฎระเบียบของท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า “ถิ่นโลกภิวัตน์” นี้อาจหมายรวมถึง การใช้สื่อเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคในท้องถิ่น บริษัทที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเศรษฐกิจบนฐานถิ่นโลกภิวัตน์ เช่น ร้านอาหารแม็คโดนัลด์ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลก แต่เมนูอาหารของร้านจะมีความแตกต่างกัน โดยจะปรับแต่งให้เหมาะสมกับรสชาติที่คนท้องถิ่นมีความคุ้นเคย เป็นต้น
    การที่เศรษฐกิจโลกมีความเป็นถิ่นโลกภิวัตน์มากขึ้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศ เนื่องจาก มีโอกาสที่จะบริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สอดคล้องกับรสนิยมและความต้องการ ในด้านผู้ประกอบการในประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส โดยความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ คือ การแข่งขันที่สูงขึ้นจากบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินกลยุทธ์บนฐานถิ่นโลกภิวัตน์ขณะที่โอกาสที่เกิดขึ้น คือ โอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดโลก ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการต้องการที่จะได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ถิ่นโลกภิวัตน์ จำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ เช่น
    1) เปลี่ยนทัศนคติ – ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกรอบคิดในระดับโลก เพราะต้องแข่งขันในตลาดโลก ไม่ใช่เฉพาะในตลาดของท้องถิ่น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้เกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมของโลก กฎระเบียบและมาตรฐานโลก รสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคในระดับโลก 
    2) เพิ่มความสามารถ – ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถทำงานข้ามวัฒนธรรม ผ่านการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ทำงานร่วมกับพันธมิตรและบุคลากรในท้องถิ่น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาตนเองให้สามารถทำงานข้ามวัฒนธรรม เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น สามารถประยุกต์สินค้าและบริการให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นได้ รวมทั้งเข้าใจวัฒนธรรมการทำธุรกิจและการทำงานของคนท้องถิ่น 
    3) ปรับปรุงแบรนด์ – ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์และแนวทางในการทำการตลาดให้สอดคล้องกับตลาดของแต่ละประเทศ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ และใช้สื่อให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น ในรูปแบบของการตัดเสื้อให้พอดีตัว ขณะเดียวกันต้องสนใจเรื่องการผลิตที่มีมาตรฐานสูงเพื่อจะสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นในตลาดโลกได้ เป็นต้น

 

ภาพที่ 1 ดัชนีโลกาภิวัตน์ทั่วโลกของ KOF Swiss Economic Institute
KOF

ที่มา: Press release – KOF Swiss Economic Institute (March 2015)
http://globalization.kof.ethz.ch/media/filer_public/2015/03/04/press_release_2015_en.pdf

ภาพที่ 2 กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์
640px-EdinburghProtests5
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Anti-globalization_movement#/media/File:EdinburghProtests5.jpg

ภาพที่ 3 เมนูของแมคโดนัลด์ในฮ่องกง มีซุปกุ้งและผักบร็อคโคลี่
McDonalds-in-Hong-Kong
ที่มา: https://www.flickr.com

ภาพที่ 4 มันฝรั่งทอดกรอบเลย์รสชาติต่างๆ ของจีนซึ่งแตกต่างจากของไทย
81440582_216462f172_o
ที่มา: http://www.sinosplice.com/life/archives/2004/08/08/lays-potato-chip-renaissance

 

ที่มา: Mix Magazine
October 2015
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://s.eximg.jp/exnews/feed/ZuuOnline/zuuonline_59801_1.jpg