ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูล : กรณีฮาร์วาร์ด

องค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูลกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยที่ข้อมูลต่าง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เป็นต้น ข้อมูลเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการวิเคราะห์และกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพจะสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของหน่วยงาน/องค์กรและประเทศชาติได้

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนและการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ล่าสุดมีการดำเนินการ โครงการวิทยาการข้อมูลฮาร์วาร์ด (Harvard Data Science Initiative หรือ HDSI) ที่ปีนี้มีการกำหนดประเด็นวิจัยทางด้านนี้ใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย สุขภาพเฉพาะบุคคล (personalized health) นโยบายที่ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นฐาน (evidence-based policy) เครือข่ายและการตลาด (networks and markets) การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven scientific discovery) และวิธีวิทยา (methodology) โดยโครงการฯ นี้ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นและผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งระหว่างภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งประสบความสำเร็จยิ่งในช่วงในปีที่ผ่านมา

โครงการวิทยาการข้อมูลฮาร์วาร์ดมีส่วนสนับสนุนการจัดการศึกษาและผลักดันให้เกิดการวิจัยทางด้านวิทยาการข้อมูลภายในมหาวิทยาลัยผ่านหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน เช่น การกระตุ้นการสร้างบรรยากาศความร่วมมือกับนักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โครงการวิทยาการข้อมูลฮาร์วาร์ดได้มีการจัดการประชุมอภิปรายแบบโต้ะกลม (roundtable discussion) 3 การประชุมระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของแอ็ลเซอเฟียร์ (Elsevier scientists) และคณาจารย์ของฮาร์วาร์ดในการพิจารณาเกี่ยวกับหุ้นส่วนการวิจัยทางด้านวิทยาการข้อมูลใน 3 พื้นที่การศึกษา รวมถึงการทำข้อตกลงรับทุนสนับสนุนการวิจัย (a master sponsored research agreement)

นอกจากการให้ทุนวิจัยแก่คณาจารย์แล้ว โครงการวิทยาการข้อมูลฮาร์วาร์ดยังให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยหลังปริญญาเอกจำนวน 4 คนจากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 260 คน โดยทั้ง 4 คนนี้มาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 1 คน สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ 2 คน และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย 1 คน ทั้ง 4 คนจะได้รับการให้คำปรึกษาและการแบ่งปันความคิดและความเชี่ยวชาญจากชุมชนนักวิชาการฮาร์วาร์ดมากกว่า 100 คน[1] เป็นต้น อันมีส่วนช่วยเตรียมกำลังคนและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูลให้แก่สังคมที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

กรณีมหาวิทยาลัยไทย ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการข้อมูล สำหรับเตรียมกำลังคนสนับสนุนการพัฒนาประเทศในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก การริเริ่มสร้างสรรค์ให้มีบรรยากาศสนับสนุนและกระตุ้นการวิจัยทางด้านนี้นับว่ามีความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยด้วยเช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยควรเป็นแกนนำผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้สุดพรมแดนทางด้านนี้ ด้วยว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรสนับสนุนและมีศักยภาพสามารถขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จได้ โดยเน้นวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นผู้นำทั้งทางด้านความองค์ความรู้และการปฏิบัติสนับสนุนการพัฒนาประเทศทางด้านนี้

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/08/harvard-data-science-initiative-rolls-out-new-research-areas/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ 14 – พฤหัสบดี 20 กันยายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.