สร้างสังคมพหุเอกานิยม : ฮาร์วาร์ดสำรวจความเห็นชนพื้นเมืองอเมริกันถูกเลือกปฏิบัติ

ผมเคยนำเสนอความคิดการสร้างเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเอาไว้ในหนังสือ         สังคมพหุเอกานิยม : เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย โดยให้ความหมายของคำว่า “พหุเอกานิยม” (Unified Pluralistic Society) หรือสังคมที่มีเอกภาพในความหลากหลาย (Unity in Diversities) ว่า

“ภายในสังคมใหญ่หรือที่เรียกว่า “ประเทศ” นั้น แม้ว่าจะประกอบไปด้วยชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจำนวนมากมาย แม้คนทุกคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแตกต่างทางด้านความคิด เชื้อชาติ ลัทธินิกายของศาสนา ความเชื่อ ฐานะ อายุ วัฒนธรรม ประเพณี เพศ อาชีพ และชนชั้น ก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข มีอิสระในการดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตนเอง ไม่มีความขัดแย้งหรือรังเกียจเดียดฉันท์ระหว่างกัน เป็นสังคมที่คนมีหัวใจแห่งเสรีภาพไม่ปิดกั้นผู้อื่น แต่สนับสนุนส่งเสริมกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ”

การตระหนักและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนี้สามารถสะท้อนผ่านแนวทางการจัดการศึกษาในฐานะเป็นองค์กรหลักการสร้างคน โดยการศึกษาควรมีส่วนเสริมสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเป็นเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคม

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวอย่างมาก ด้วยเพราะบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น เชื้อชาติ ลัทธินิกายศาสนา ความเชื่อ ฐานะ วัฒนธรรม ประเพณี เพศ อาชีพ ฯลฯ ซึ่งความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว มีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดก่ายกันขึ้นทางด้านสติปัญญาและองค์ความรู้ เป็นโอกาสและความท้าทายต่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จะต้องสามารถนำความแตกต่างหลากหลายมาเสริมสร้างกันและกันให้เกิดประโยชน์

นอกจากการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนี้แล้ว ที่ผ่านมาวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที. เฮช. ชาน (Harvard T. H. Chan School of Public health) ยังได้นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอเมริกันเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุดประเด็นการสำรวจหัวข้อ “การเลือกปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกา” (Discrimination in America) อันเกิดมา

จากความร่วมมือกันระหว่างวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (National Public Radio) มูลนิธิ โรเบิร์ต วูด จอห์นสัน (Robert Wood Johnson Foundation) และวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที. เฮช. ชาน ทำการเก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 26 มกราคมถึง 9 เมษายน ค.ศ. 2017 จากตัวแทนกลุ่มตัวอย่างชนพื้นเมืองอเมริกันจำนวน 342 คน

การสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีการสอบถามประสบการณ์ส่วนตัวของประชาชนแตกต่างจากการสำรวจจำนวนมากที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผลการสำรวจเป็นที่น่าตกใจว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของชนพื้นเมืองอเมริกันเคยมีประสบการณ์การถูกใส่ร้าย (slur) การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำไม่สร้างสรรค์ (offensive comment) การคุกคามหรือการข่มขู่ และการใช้ความรุนแรง ในที่นี้มีถึงร้อยละ 39 ที่เคยมีประสบการณ์การถูกแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำไม่สร้างสรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ และร้อยละ 38 บอกว่า ตนเองและครอบครัวเคยมีประสบการณ์การถูกใช้ความรุนแรงด้วยเหตุผลเพราะเป็นชนพื้นเมือง

ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างชนพื้นเมืองอเมริกันบอกว่า เคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากเป็นชนพื้นเมือง ในสถานที่ทำงานหรือเมื่อปฏิสัมพันธ์กับตำรวจด้วยเหตุผลเพราะเป็นชนพื้นเมือง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 33 บอกว่า เคยถูกเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนหรือการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งด้วยเหตุผลเพราะเป็นชนพื้นเมืองเดียวกัน

ขณะเดียวกันเกือบ 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างชนพื้นเมืองอเมริกันยังบอกด้วยว่า เคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไปพบแพทย์หรือใช้บริการคลินิกสุขภาพ  โดยในจำนวนนี้ถึง ร้อยละ 23 บอกว่า เคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเพราะเป็นชนพื้นเมืองเมื่อไปพบแพทย์หรือใช้บริการคลินิกสุขภาพ และร้อยละ 15 หลีกเลี่ยงการได้รับเวชปฏิบัติสำหรับตนเองและสมาชิกครอบครัวด้วยกังวลว่าจะถูกเลือกปฏิบัติหรือได้รับการรักษาที่ย่ำแย่ ไม่ดีด้วยเหตุผลเพราะเป็นชนพื้นเมือง

ทั้งนี้ในภาพรวมร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างชนพื้นเมืองอเมริกันเชื่อว่า การเลือกปฏิบัติกับชนพื้นเมืองยังคงมีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ วันนี้ ตัวเลขโดยประมาณ คือ ร้อยละ 41 เห็นว่า การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานอคติของปัจเจกบุคคลเป็นปัญหาส่วนใหญ่ ขณะที่ร้อยละ 39 บอกว่า เป็นการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล และร้อยละ 16 บอกว่า ทั้งสองรูปแบบของการเลือกปฏิบัติเป็นปัญหาพอกัน (ที่มา https://www.hsph.harvard.edu/news/press-releases/poll-native-americans-discrimination/)

กรณีของประเทศไทย มหาวิทยาลัยควรมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเป็นเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคม ด้วยว่า ความแตกต่างที่แต่ละคนมีจะนำมาซึ่งการผสมเกสรทางปัญญา การก่ายทับกันทางปัญญา โดยแต่ละกลุ่มรู้จักนำส่วนดีของกันและกันมาใช้ประโยชน์โดยปราศจากอคติ การกีดกันทางความคิด ตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ สังคมพหุเอกานิยม : เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย เช่น การจัดการเรียนการสอนที่มีส่วนเสริมสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีและการให้บริการวิชาการแก่สังคม อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วยอีกทางหนึ่ง

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ 8 – พฤหัสบดี 14 ธันวาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.