ศูนย์บ่มเพาะนักวิจัยรางวัลโนเบลในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอข้อคิดเอาไว้ว่า “การชนะทางปัญญาสำคัญกว่าการชนะทางกำลัง” แหล่งต่อยอดทางปัญญาที่ดีที่สุดคือ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงต้องทำบทบาทหน้าที่ในการผลิตองค์ความรู้และเตรียมกำลังคนทางด้านการวิจัยสนับสนุนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือชี้ทิศนำทางสังคม

ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างมหาวิทยาลัยวิจัยที่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัย ด้วยการสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย การให้การสนับสนุนทรัพยากรและห้องปฏิบัติการทดลอง ส่งเสริมการทำวิจัยอย่างเข้มข้น สนับสนุนให้ประชาคมมหาวิทยาลัยทำวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่สร้างผลงานวิจัยกันอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก จนกระทั่งนักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่สำคัญฮาร์วาร์ดยังเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้รับรางวัลโนเบลที่สำคัญ มีผู้รับรางวัลโนเบลที่เป็นศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ดด้วยกันหลายคน

ตัวอย่างชั้น 3 ของห้องปฏิบัติการทดลองชีวะ (Biolabs) บนถนนดิวินิตี้ (Divinity Avenue) เป็นเหมือน “ศูนย์บ่มเพาะนักวิจัยรางวัลโนเบล” สถานที่แห่งนี้มีส่วนสำคัญต่อการฝึกฝนผู้รับรางวัลโนเบล อันเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกที่มีวัตถุประสงค์มอบให้แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ดีเด่น โดยผู้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 5 ท่านผ่านการฝึกฝนที่สถานที่แห่งนี้และได้รับรางวัลโนเบลภายหลังออกจากฮาร์วาร์ด เช่น

วอลเทอร์ กิลเบิร์ต (Walter Gilbert) ผู้ชนะเลิศรางวัลโนเบลทางด้านเคมี ปี ค.ศ. 1980 ทำงานอยู่ที่ชั้น 3 แห่งนี้ในการพัฒนาวิธีการจัดองค์ประกอบของยีนในดีเอ็นเอ (the sequence of genetic building blocks in DNA)

จอร์จ วอลด์ (George Wald) ผู้ชนะเลิศรางวัลโนเบลทางด้านสรีรวิทยา ปี ค.ศ. 1967

เจมส์ ดี วัทสัน (James D. Watson) หนึ่งในผู้ค้นพบร่วมโครงสร้างดีเอ็นเอ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางด้านการแพทย์และสรีรวิทยา ปี ค.ศ. 1962

มาริโอ้ คาเปคชี (Mario Capecchi) ผู้ชนะร่วมรางวัลโนเบลทางด้านสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 2007

โรเจอร์ คอร์นเบิร์ก (Roger Kornberg) ผู้ชนะเลิศรางวัลโนเบลทางด้านเคมี ปี ค.ศ. 2006 เป็นต้น[1]

ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับรางวัลโนเบลเอาไว้ในบทความ รางวัล “โนเบล” วิสัยทัศน์ที่คนไทยควรมีเป้าหมาย ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2540 และรวบรวมบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือ แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย ว่า

แนวทางหนึ่งที่รัฐสามารถส่งเสริมคนในประเทศให้มุ่งไปสู่รางวัล “โนเบล” ได้คือ การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือดัดแปลงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น[2] มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรเป็นองค์กรหลักในการผลักดันให้แนวคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้น ด้วยว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทการผลิตองค์ความรู้ที่สำคัญ มีความเชี่ยวชาญ และมีทรัพยากรสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการและงานวิจัย

แนวทางหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการพัฒนาและสนับสนุนให้คนไทยมีเป้าหมายถึงการได้รางวัลโนเบล เช่น การสนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะนักวิจัยรางวัลโนเบลในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย โดยเชิญนักวิชาการรางวัลโนเบลและนักวิจัยชั้นนำของโลกในสายนั้นมาร่วมทำวิจัยด้วย มาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อสร้างนักวิจัยไทยให้มีศักยภาพที่จะได้รางวัลโนเบลในอนาคต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คนไทยมีส่วนในการผลิตองค์ความรู้ที่เป็นการค้นพบสำคัญ มีส่วนแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมการอยู่ร่วมกันบริจาคให้แก่โลก

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย,

2542.

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/09/the-phenomenon-of-the-third-floor-nobel-laureates/

[2] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2542), หน้า 82-83.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ 26 ตุลาคม – พฤหัสบดี 1 พฤศจิกายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.