719258

ยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูง ตอนที่ 1

719258เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

จากนี้ไป อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ประเทศจะเดินย่ำอยู่กับที่หรือพัฒนาไปสู่ความเจริญงอกงามนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นสำคัญ ภายใต้บริบทที่ประเทศไทยยังมีโอกาสที่ดีหลายประการในการก้าวไปสู่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง ผมจึงขอเสนอยุทธศาสตร์การนำพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูง 10 ประการ โดยนำเสนอ 3 ประการแรกในตอนที่ 1 ดังนี้

ประการแรก “เปิดให้มีการลงทุนเสรีมากขึ้น”

ภายใต้บริบทความเป็นโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลก มีข้อโต้แย้งที่โจมตีกระแสโลกาภิวัตน์ว่าเป็นลัทธิล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ หรือเป็นความพยายามของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อเข้ามาครอบครองระบบเศรษฐกิจและทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงมีการต่อต้านโลกาภิวัตน์ เพราะกลัวว่าต่างชาติเข้ามายึดครองประเทศ สำหรับประเทศไทย มีข้อโต้แย้งเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เช่น กรณีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การออก พ.ร.บ.ค้าปลีกและค้าส่ง และการเจรจาเขตการค้าเสรี

ประเทศไทยไม่สามารถหลีกหนีผลกระทบของโลกาภิวัตน์ได้ คนไทยจึงจำเป็นต้องเลือกระหว่างการมีอำนาจครอบครองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจหรือองค์กรธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเค้กก้อนใหญ่ขึ้น แม้คนไทยจะมีอำนาจครอบครองลดลง แต่จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าเดิม แต่หากต้องการมีอำนาจครอบครองกิจการของตนเอง จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหรือองค์กรธุรกิจมีขนาดเล็กกว่า ผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับจึงน้อยกว่า

ในความเห็นของผม ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางที่ให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพราะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต่างชาติจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมต้องใช้เวลานาน การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจึงเป็นหนทางพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศได้เร็วที่สุด

ผมเห็นว่า ประเทศไทยควรเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยเปิดเสรีการลงทุนมากแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการของไทย ยังไม่ได้เปิดเสรีมากนัก จึงเป็นเหตุให้ภาคบริการในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูง ยังไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการยังล่าช้า แต่ไม่ได้หมายความว่า เราควรเปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นทันที เราต้องเตรียมความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับต่างชาติมากขึ้น ต้องแสวงหาพันธมิตรต่างประเทศมากขึ้น และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี

ประการที่สอง “กำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์บนจุดแข็งของประเทศ”

ในสถานการณ์ที่การแข่งขันรุนแรง ประเทศไทยควรพัฒนาเศรษฐกิจบนจุดแข็งของประเทศ เน้นการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่ไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมมี 2 แนวคิดหลัก คือ หนึ่ง การปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวคัดเลือกว่า อุตสาหกรรมใดที่มีความสามารถในการแข่งขัน และ สอง การกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เพื่อรัฐบาลจะสนับสนุนให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ผมมองว่า ประเทศไทยควรมีการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เราไม่ควรเสียทรัพยากรในการลองผิดลองถูก แต่ควรกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ด้วยการวิจัย

ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชุดไม่ได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมภาคการผลิต แต่ใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบปูพรม มีบางรัฐบาลที่กำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ แต่กลับกำหนดตามใจชอบ ไม่ได้เกิดจากฐานการวิจัย คือ อาหาร ยานยนต์ แฟชั่น ท่องเที่ยว และซอฟท์แวร์ ผมเคยทำวิจัยศึกษาความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจของไทย พบว่า บางอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลต่อสวัสดิการของประชาชนมากนัก บางอุตสาหกรรมไม่ได้เป็นจุดแข็งของไทยอย่างแท้จริง

ประการที่สาม “ยุทธศาสตร์กระโดดข้าม”

ผมมีโอกาสทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยอาร์วาร์ดและได้รู้จักศาสตราจารย์ริคาร์โด เฮาส์แมนน์ ผู้คิดค้นทฤษฎี ?ลิงกระโดดต้นไม้? และเป็นผู้สอนวิชา “ทำไมหลายประเทศยังยากจน” ศ.เฮาส์แมนน์เชื่อว่า การพัฒนาประเทศในระยะยาว เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ แต่คำถามคือ ทำไมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแต่ละประเทศจึงต่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้บางประเทศร่ำรวย แต่อีกหลายประเทศยังยากจนอยู่ จากการศึกษา ศ.เฮาส์แมนน์ ได้ข้อสรุปในเชิงทฤษฎีว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเดิมของประเทศนั้นว่าอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ใด การเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนั้น เป็นไปได้ยากหรือง่าย

ประเทศเหมือนกับลิงที่กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ต้นไม้แต่ละต้น คือ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ต้นไม้แต่ละต้นมีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่มีผลิตภาพ (Productivity) แตกต่างกัน ลิงพยายามกระโดดไปยังต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีข้อจำกัดคือ มันไม่สามารถกระโดดไปต้นที่อยู่ไกลเกินไปได้

ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระโดดข้าม (leap across) ที่ผมเสนอไว้นานหลายทศวรรษแล้วว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงควรพิจารณาจากฐานความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เพื่อกำหนดว่า ประเทศควรกระโดดข้ามไปยังอุตสาหกรรมใดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แล้วจึงทุ่มเททรัพยากรและกำลังคนเพื่อไปพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ประเทศไทยควรจัดสรรทุนการศึกษาต่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ โดยสำรวจว่า มหาวิทยาลัยใดบ้างที่เก่งที่สุดในเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมที่เราต้องการพัฒนา แล้วส่งคนเก่งๆ ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น กำหนดโจทย์ให้นักเรียนทุนด้วย เพื่อให้มีการศึกษาและทำวิจัยอย่างมีเป้าหมาย เมื่อเรียนจบแล้ว ต้องมีโครงการรองรับเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับข้อเสนอยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูงประการถัดไป ผมจะนำเสนอเพิ่มเติมในครั้งหน้า

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670×490/cover/719258.jpeg