ยุทธศาสตร์ดุมล้ออาเซียน เพื่อไทยเป็นประเทศรายได้สูง (2)

จากบทความตอนก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ดุมล้ออาเซียนเพื่อประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงโดยนำเสนอ ไปแล้ว 2 ประเด็น คือ เหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นดุมล้อของอาเซียน และความเหมาะสมของไทยในการเป็นดุมล้อของอาเซียน
 

เมื่ออาเซียนมีความสำคัญกับไทย เราจะใช้ยุทธศาสตร์อะไร เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเป็นอาเซียน? ในมุมมองของผม ไทยสามารถใช้อาเซียนเป็นคานงัด เพื่อประโยชน์กับไทยได้หลายทาง เช่น ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาร่วมกันในอาเซียนยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยยุทธศาสตร์การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์พลังงานสำรองทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน ซึ่งผมได้เคยเสนอความเห็นทั้งพูด ทั้งเขียนในประเด็นเหล่านี้ไว้นานแล้ว แต่ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญที่สุด ในการเชื่อมโยงกับอาเซียน คือ ยุทธศาสตร์การเป็นดุมล้อของอาเซียน และในบทความตอนนี้จะนำเสนอยุทธศาสตร์ที่ควรดำเนินการเพื่อก้าวสู่การเป็นดุมล้อของอาเซียน

1) สร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ

หากประเทศไทยเอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงและจะถูกสกัดในการเป็นดุมล้ออาเซียน หากไทยเข้าใกล้จีนมากเกินไปในขณะที่สหรัฐกำลังปิดล้อมจีนไม่ให้มีทางออกสู่ทะเลโดยสะดวก ไทยจะถูกสกัดโดยสหรัฐไปด้วย แต่ถ้าไทยเข้าใกล้สหรัฐมากจนเกินไป ไทยจะเสียโอกาสได้รับการสนับสนุนจากจีนเนื่องจากจีนต้องพึ่งพาไทยเป็นหลักเพื่อมีเส้นทางออกทะเล

ประเทศไทยจึงควรใช้จุดแข็ง จากการมีตำแหน่งเป็นอยู่ใจกลางอาเซียนเพื่อดึงมหาอำนาจเข้ามาพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางอาเซียน เช่นการเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน

ตัวอย่างแนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ผมคิดไว้ เช่น การสร้างความร่วมมือกับตะวันออกและเศรษฐกิจเกิดใหม่ในนาม BRICKSJAM โดยให้ประเทศไทยขับเคลื่อน ASEAN ให้เป็นดุมล้อของโลกตะวันออกและตะวันตก หรือริเริ่มความร่วมมือกับตะวันตกในนาม ASEUM (Asia+Europe+USA Meeting) เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับโลกตะวันออกโดยเฉพาะจีน และกระชับความสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม หรือริเริ่มความร่วมมือในนาม RICAM ที่เน้นสร้างสัมพันธ์กับ Russia-India-China-ASEAN-Middle East เป็นหลัก

2) แสดงบทบาทริเริ่มในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ

ไทยควรเริ่มต้นจากสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางการเมืองให้กับต่างประเทศ ควรริเริ่มความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคโดยเล่นบทบาทในเวทีอาเซียน และนอกอาเซียนให้กว้างขึ้น ไม่นิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคแม้ว่าปัญหานั้นจะไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรงก็ตาม เช่น ปัญหาในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและบางประเทศในอาเซียน โดยไทยต้องหาทางสมานให้อยู่ด้วยกันได้ และต้องริเริ่มจัดการปัญหาระหว่างประเทศให้ถูกต้อง

3) สร้างพลังอำนาจอ่อนละมุน (soft power)

ไทยมียุทธศาสตร์ที่ให้เป็นฮับของ CLMV ที่ผมเรียกมานานว่า “TCLMV” นั่นคือควรให้ความสำคัญกับการสร้างอิทธิพลต่อลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น การรับซื้อสินค้าการลงทุนการให้เงินกู้เงินให้เปล่า การช่วยเหลือทางเทคนิคการให้ทุนการศึกษา
ที่ผ่านมา จีนได้ใช้นโยบายลักษณะนี้อย่างสัมฤทธิ์ผลกับประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียกลาง รวมทั้งอาเซียนบางประเทศทั้งนี้ การสร้างพลังอำนาจอ่อนละมุนจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ขัดขวาง คัดค้าน แต่สนับสนุนให้ไทยเป็นดุมล้อด้วยความเต็มใจ

4) พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านที่เป็นจุดแกร่ง อาทิ

ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอาเซียน เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยเพื่อให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

ศูนย์กลางการท่องเที่ยว โดยพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในอาเซียน ร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศอาเซียนได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีการจัดตามสะดวกเพื่อท่องเที่ยวเชื่อมโยงหลายประเทศในภูมิภาค

ศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพในอาเซียน ด้วยความได้เปรียบทั้งเชิงพื้นที่หรือที่ตั้ง ความมีชื่อเสียงทางการแพทย์ และความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย จึงทำให้เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างศูนย์กลางการบริการสุขภาพในอาเซียน

ฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาค (Hub of Re-Exportation) เพื่อเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตการเกษตร เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจเกษตรกรรม

ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Headquarter) โดยบุคคลระดับสูงในรัฐบาลควรใช้เวลาในการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อเจรจาให้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งออกของภูมิภาค (regional exporter) ภายใต้รูปแบบการตั้งสำนักงานใหญ่ของบริบทต่างๆ ในโลก

นอกจากนี้ เราควรเจรจากับทุกองค์กร ทุกภาคี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ หน่วยงานประเทศต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาเพื่อดึงให้มาตั้งสำนักงานในประเทศไทย

ผลักดันให้ใช้เงินบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในกลุ่มเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region:GMS) เพื่อไม่เสียต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินเพราะเงินบาทก็ได้รับการยอมรับภายในภูมิภาค CLMV อยู่แล้ว

ตัวอย่างยุทธศาสตร์ที่ผมเสนอเหล่านี้มีความเป็นรูปธรรมและมีโอกาสจะสำเร็จได้ หากมีการดำเนินการจริง ผมปรารถนาจะเห็นประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจรายได้สูงในช่วงอายุของผม และผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับทุกท่านที่ปรารถนาจะช่วยผลักดันและร่วมกันภูมิใจในที่สุดที่จะได้เห็นไทยเป็นประเทศที่รายได้สูงเสียที

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.prokerala.com/news/photos/imgs/800/bangkok-june-16-2016-thai-prime-minister-prayut-427867.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.

ยุทธศาสตร์ดุมล้ออาเซียน เพื่อไทยเป็นประเทศรายได้สูง

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ดุมล้ออาเซียนเพื่อประเทศไทยจะมีรายได้สูง” ในการอบรม ASEAN Excellence Awards 2016 ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมการค้าอาเซียน อันเป็นงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 5 ปี รวมทั้งได้ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล
ผมได้ให้ทิศทางและบทบาทของประเทศในบริบทสมาชิกอาเซียนเพื่อก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ไว้ 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ 1) ทำไมประเทศไทยควรเป็นดุมล้อของอาเซียน 2) เพราะเหตุใดไทยจึงเหมาะในการเป็นดุมล้อของอาเซียน และ 3) ประเทศไทยจะดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรเพื่อก้าวสู่การเป็นดุมล้อของอาเซียน

(more…)

Leave a Reply

Your email address will not be published.