ยุทธศาสตร์ชลบุรีสร้างชาติ

ยุทธศาสตร์ชลบุรีสร้างชาติ: เมืองอุตสาหกรรม เมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
.
ขอเสนอแนวคิดการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา 8 จังหวัดหลัก ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา EEC เศรษฐกิจสำหรับภาคตะวันออกในภาพรวม บทความนี้ขอเริ่มที่จังหวัดชลบุรี
.
หัวข้อหนึ่งที่ผู้เขียนบรรยายเรื่อยมาในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก (นสช. EEC) รุ่นที่ 2 คือการบรรยาย เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดใน EEC ซึ่งผมได้เตรียมข้อมูลและทำการบรรยายให้ครบทั้ง 8 จังหวัด (EEC plus) ด้วยเหตุเพราะ EEC จะสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจของคู่แข่งประเทศอื่นๆ ได้นั้น ต้องได้รับการชี้นำและการสนับสนุน

โดยแต่ละจังหวัดต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับภาคตะวันออกในภาพรวม หรือที่ผมเรียกว่า BITA Economy กล่าวคือ Bio-Integrated Tourism-Automation Economy โดยในครั้งนี้ผมจะเริ่มกล่าวถึงยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรีเป็นลำดับแรก
.
ยุทธศาสตร์การพัฒนาชลบุรี กับ EEC
ชลบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ร้อยละ 56 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 42 ในภาคบริการ และร้อยละ 2 ในภาคเกษตร ส่วนโครงสร้างแรงงานนั้นหากนับเฉพาะผู้มีงานทำ มีการจ้างงานร้อยละ 32.69 ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 63.15 ในภาคบริการ และร้อยละ 4.16 ในภาคเกษตร
.
ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของชลบุรีขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม และบริการเป็นหลัก และหากมองส่วนแบ่ง GPP ในภาคอุตสาหกรรมก็พบว่าอุตสาหกรรมในชลบุรีมีความหลากหลายมากกว่าจังหวัดอื่นๆ นอกจากนั้นมูลค่า GPP ภาคบริการที่ใหญ่กว่าจังหวัดอื่นมาก (ห่างจากอันดับ 2 คือ ระยองกว่า 3 เท่าตัว)
โดยรายได้กว่าครึ่งของภาคบริการมาจากการท่องเที่ยว จากโครงการสร้างเศรษฐกิจ และ พื้นฐานของชลบุรี ผมจึงเสนอให้ชลบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
.
1. ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์
ปัจจุบันชลบุรีเป็นฐานการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อำเภอศรีราชายังเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Thailand Digital Valley
.
ประกอบกับทิศทางของโลกกำลังจะเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับฐานอุตสาหกรรมในชลบุรีและภาคตะวันออก และ 5G เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะจำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ
.
ผมจึงเสนอ ให้ชลบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการบูรณาการของเทคโนโลยีใหม่ อาทิ 5G, อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง, เซ็นเซอร์อัจฉริยะ, การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่, ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ขั้นสูง เป็นต้น
.
ซึ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้
.
1) โฟกัสที่ช่องว่างช่องว่างธุรกิจในระดับย่อย (sub-niche)
ไทยควรเลือกโฟกัสที่ช่องว่างช่องว่างธุรกิจในระดับย่อยของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มีการแข่งขันสูงจากประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยียังมีความหลากหลายสาขา
.
และยังสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่อยอดจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย หรือ อุปกรณ์ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการเกษตร ตัวช่วยด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และหุ่นยนต์หรือปัญญาประเด็นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
.
2) พัฒนามหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University – WCU) ทางเทคโนโลยี
เนื่องจาก อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องบูรณาการเทคโนโลยีหลายสาขา ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทักษะทางเทคโนโลยีระดับสูงเป็นจำนวนมาก
.
ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการดึงมหาวิทยาลัยระดับโลก ด้านเมคาทรอนิกส์ มาตั้งใน EEC เช่น สร้างเมืองใหม่ ดึง มหาวิทยาลัยระดับโลก ด้านปัญญาประดิษฐ์ ของจีนมาตั้ง ดึงวัยแรงงานกลับภูมิลำเนา (Reverse brain drain) และให้ทุนเรียนต่างประเทศบนเงื่อนไข เป็นต้น
.
3) ขับเคลื่อนสู่ อุตสาหกรรมต้นน้ำ
เน้นกิจกรรมการออกแบบทางเทคโนโลยีซึ่งลงทุนไม่สูง และช่วยพัฒนาบุคลากรทางเทคโนโลยีก่อน เช่น การออกแบบชิป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (embedded software) เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ด้านเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์
.
4) เมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัยและพัฒนา
เป้าหมาย คือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รองรับผู้เชี่ยวชาญ และนักเรียนทุน ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่จบมาแล้วไม่มีอะไรให้ทำที่ตรงกับความรู้ เช่น โครงการพัฒนารัฐบาลอัจฉริยะ การพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และแผนงานหลักด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการสร้างชาติ
.
2. ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)
มีการคาดว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเติบโตไปอีก 8 ปีข้างหน้า (2017 – 2023) เฉลี่ยปีละร้อยละ 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รวมประเทศไทยด้วย) คาดกันว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านบาท ประเทศอื่นๆ จึงทำการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กันหมด เช่น ปีนัง สิงคโปร์ หรืออินเดีย ต่างก็ทำศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว – คนไข้ จากประเทศรอบบ้าน
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาดูจุดแข็งของเราจะพบว่าไทยมีการรักษาพยาบาลมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมากกว่า โดยไทยมีโรงพยาบาลเอกชน 347 แห่งที่มีการแพทย์ทันสมัยเทียบเท่าระดับโลก อีกทั้งค่ารักษาถูก นอกจากนี้ยังสามารถช็อปปิ้ง และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถรองรับเหล่านักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
.
นอกจากนั้นยังมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) ถึง 70 โรงพยาบาล มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ในปี 2562 ซึ่งหากแยกตามจังหวัด ชลบุรีมีจำนวนโรงพยาบาลเป็นรองแค่กรุงเทพเท่านั้น
จากข้อได้เปรียบดังกล่าว ชลบุรีจึงควรมียุทธศาสตร์ในด้านนโยบาย ดังนี้
.
1) กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (position) ของชลบุรีให้ชัดเจน
เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และกรุงเทพ ชลบุรี ควรมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเก่ง การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในเรื่องใด โดยควรเลือก 1 ด้าน เพื่อเป็นจุดแกร่งของชลบุรี โดยปัจจุบันบริการทางการแพทย์ 4 ด้านที่เติบโตสุดในไทยตามลำดับ คือ เวชศาสตร์ชะลอวัยและสุขสภาพ การรักษาผู้มีบุตรยาก การบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ ติดยา และบริการรีสอร์ตสุขภาพ หรืออาจพัฒนาทางเลือกอื่นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้จังหวัด
.
2) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ชลบุรีมีโรงพยาบาล 34 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน JCI 5 แห่ง (2562) ภาครัฐในจังหวัดจึงควรส่งเสริมพัฒนาให้โรงพยาบาลที่เหลือในชลบุรี ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI ให้ครบเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ในชลบุรีให้ทัดเทียมกับกรุงเทพ
.
3) วางแผนเตรียมกำลังคนให้เพียงพอ
ขยายความสามารถในการแข่งขันในโรงเรียนแพทย์ โดยให้ทุนการศึกษาและรับเข้าทำงาน โดยอาจพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราว สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ชาวต่างชาติเพื่อสามารถให้บริการในสถานพยาบาลเอกชนแก่ผู้ป่วย หรือเพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับหลังปริญญา อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานบุคลากรของไทย
.
4) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับภาคเอกชน จัดงานมหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมกับจัดแพคเกจพิเศษด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปี
.
นอกจากนั้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ยังอาจใช้การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการทางการแพทย์นานาชาติเพื่อให้มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ ซึ่งจะสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
.
จากข้อเสนอข้างต้น จำเป็นที่ชลบุรีจะต้องได้รับและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา กับ ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับชลบุรี และมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม แต่อยู่นอก EEC ซึ่งผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.