ยกระดับกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองมาตรฐานโลก

ในอนาคต ความเป็นเมืองจะขยายตัวมากขึ้น กล่าวคือ ประชากรจะอาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 60 ในปี 2020 และเป็นร้อยละ 70 ในปี 2050 ความเป็นเมืองช่วยให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างนวัตกรรม สังเกตได้จากส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของเมืองมากกว่าสัดส่วนของประชากรในเมือง GDP ของเมืองมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 80 ของ GDP โลก แต่มีประชากรในเมืองเพียงร้อยละ 54 ของประชากรโลก

เมืองมีผลิตภาพสูงกว่า เนื่องจากความประหยัดจากการอยู่เป็นกลุ่ม (Agglomeration economies) ซึ่งการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนจะสนับสนุนหน้าที่ 3 ประการ คือ การจับคู่ (Matching) การใช้ร่วมกัน (Sharing) และการเรียนรู้ (Learning)


แต่ในขณะเดียวกัน ความเป็นเมืองจะนำไปสู่ความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้มลภาวะ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และต้นทุนแรงงานและต้นทุนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนในการจัดการกับอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น หากขาดการจัดการเมืองอย่างเหมาะสม ขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ระบบขาดประสิทธิภาพ มีข้อจำกัด และมีความเสื่อมโทรมทางกายภาพ จะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง ขัดขวางการพัฒนาผลิตภาพและการขยายตัวของเมือง


กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรอยู่อาศัยจริงมากกว่า 15 ล้านคน หรือที่เรียกว่าเป็นเมกะซิตี้ (Megacity) เป็นมหานครเดี่ยว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ ประชากร การเมือง การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน สังคม และวัฒนธรรม โดยจากข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2553 พบว่า เขตเมืองกรุงเทพฯ คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของพื้นที่เขตเมืองในประเทศไทย


กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดึงดูดนักลงทุน ทั้งในเรื่องอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว และการบริการต่างๆ แต่เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ เพราะแม้ว่ากรุงเทพฯ ถูกโหวตให้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวติดระดับโลกเป็นเวลาหลายปี แต่จากการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ โดย Mercer’s Quality of Living Rankings พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 117 จาก 230 เมือง ในปี 2015


หนึ่งในความไม่น่าอยู่ของกรุงเทพฯ นอกจากรถติดเป็นอันดับต้นของโลกแล้ว ผมยังพบว่า เมื่อฝนตกหนักมาก จะทำให้เกิดน้ำขังรอการระบายหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ดังที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหามลภาวะ ขยะ ความไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ ผมจึงเกิดความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองมาตรฐานโลก


กรุงเทพฯ ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นมหานครที่มีมาตรฐานโลก เนื่องจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์ และเศรษฐกิจฐานความรู้ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น


กรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับเมืองขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งเมกะซิตี้ (10 – 19 ล้านคน) เมตะซิตี้ (20 – 49 ล้านคน) และที่ผมสร้างศัพท์ใหม่ว่า แมกนาซิตี้ (50 ล้านคนขึ้นไป) โดยเมืองขนาดใหญ่ระดับต่างๆ นี้จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรเป็นจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ดังตัวอย่าง The Pearl River Delta ที่รวมเมือง 9 เมืองจากกวางโจวถึงเสินเจิ้นไว้ด้วยกัน โดยคาดว่าจะมีประชากร 42 ล้านคนภายในปี 2017


อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ ไม่อาจแข่งขันด้วยขนาดของเมือง เพราะประเทศไทยทั้งประเทศมีประชากรเพียง 70 ล้านคน จึงเป็นไปได้ยากที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่มาก ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาหมักหมมภายในและเป็นปัญหาที่ซับซ้อน จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของกรุงเทพฯ ลดลง อันส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง ดังนั้นกรุงเทพฯจึงควรแข่งขันด้วยการพัฒนาคุณภาพของเมือง


ผมจึงขอเสนอแนวทางพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่มีมาตรฐานโลก ดังต่อไปนี้


1. ตั้งเป้ายกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก เป็นมหานครที่มีมาตรฐานระดับโลกในด้านต่าง ๆ ภายในปี 2025
2. สร้างตัวชี้วัดกำกับการพัฒนาเมืองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น มิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองสะดวก มิติเมืองอยู่ดีกินดี มิติเมืองอบอุ่น เอื้ออาทร มิติเมืองทันสมัย มิติเมืองธรรมาภิบาล มิติเมืองวัฒนธรรม มิติเมืองพัฒนาคน และมิติเมืองคุ้มค่า
3. การพัฒนาระบบสนับสนุน เช่น พัฒนามหาวิทยาลัย กทม. ให้เป็นแหล่งสร้างผู้เชี่ยวชาญ ด้านกรุงเทพฯ และเมืองหลวง
4. ใช้แนวคิด “อารยาภิวัฒน์” ในการพัฒนากรุงเทพฯ สู่เมืองมาตรฐานโลก อันเป็นกระบวนการพัฒนาประเทศหรือเมือง ไปสู่ความเป็นอารยะอย่างครบถ้วนทุกด้าน ทุกมิติ ทุกองค์ประกอบของสังคม ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะ คือ ปฏิวัฒนา อภิวัฒนา ธรรมวัฒนา และอารยาภิวัฒนา

ระยะที่ 1 ปฏิวัฒนา คือ การแก้ปัญหา (จาก – เป็น 0)

ระยะที่ 2 อภิวัฒนา คือ การทำให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น (จาก 0 เป็น +)

ระยะที่ 3 ธรรมวัฒนา คือ การทำให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและครบถ้วน โดยใช้คุณธรรม ความถูกต้องดีงาม เป็นตัวกำกับ (จาก + เป็น x)

ระยะที่ 4 อารยวัฒนา คือ การทำเกิดการทวีคูณความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน ครบถ้วน (จาก x เป็น xn)


ผมขอตัวอย่างการพัฒนาเมืองคูริติบา ในบราซิล เป็นเมืองที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งนายกเทศมนตรี (เจมส์ เลินเนอร์) มีความคิดว่า ต้องพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดโดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลางมาช่วย แต่อาศัยความคิดริเริ่ม การทำงานจริงจัง สิ่งที่เจม เลินเนอร์ ได้ดำเนินการ อาทิ (1) การสร้างระบบขนส่งมวลชนระดับโลก ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายรถประจำทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณรถยนต์บนถนนได้ร้อยละ 30 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2) สร้างสวนสาธารณะที่ใช้ประโยชน์หลากหลาย มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 1 ตารางเมตรต่อคนในปี 1970 เป็น 52 ตารางเมตรต่อคนในปัจจุบัน (3) ทำให้พื้นที่ย่านการค้าใจกลางเมืองกลายเป็นถนนคนเดิน (4) โซนอุตสาหกรรมถูกกำหนดแยกจากโซนที่พักอาศัย (5) ริเริ่มโปรแกรมรีไซเคิลครบวงจร เป็นต้น


ปัจจุบัน คูริติบากลายเป็นเมืองที่“พัฒนาแล้ว”ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม ความปลอดภัยของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ชาวเมืองมากกว่าร้อยละ 99กล่าวว่าพวกเขามีความสุขที่ได้อยู่ในเมืองนี้ และมีประชากรอ่านออกเขียนได้สูงสุดในบราซิล (ร้อยละ 94ปี ค.ศ.1996) ขณะที่เมืองอื่นๆ ในบราซิล อย่างเซาเปาโล รีโอเดจาเนโร มีสลัมเต็มไปหมด


การแก้ปัญหาของเมืองไม่ได้เกิดจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เกิดจากการมีส่วนร่วม โดยนำกลุ่มคนที่มีทักษะที่หลากหลายและประชาชน เข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน


ข้อคิดจากความสำเร็จในการพัฒนาเมืองคูริติบา คือ การเริ่มต้นที่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะเลินเนอร์ เริ่มจากการมีทัศนคติว่า“ทุกอย่างสามารถทำได้”เขาได้กล่าวไว้ว่า “ผมพยายามทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าเป็นไปได้ ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น”
 

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.holidayssg.com/wp-content/uploads/2014/07/Wat-Arun-Temple-in-bangkok-thailand-940×529.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.