มหาวิทยาลัยผู้ชี้นำทางปัญญา : กรณีฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในการบรรยายหัวข้อ Thailand 4.0 กับมิติสังคมศาสตร์ งานครบรอบคล้ายวันสถาปนาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาว่า “เราต้องคิดให้จงหนักว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้นำทางปัญญาหรือเป็นผู้ตามกระแสสังคม” และ “มหาวิทยาลัยต้องชี้นำสังคม เป็นแสงสว่างส่องทะลุทะลวงทางเดินของสังคม” 

บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงต้องจัดการศึกษาชี้นำสังคม ต้องมีความสมดุลระหว่างความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการระยะยาวและความต้องการของตลาดและสังคมระยะสั้น ต้องส่งเสริมให้เกิดการกระจายผู้เรียนเก่งหรือผู้เรียนที่มีสติปัญญาเลิศอยู่ในทุกศาสตร์สาขา ทำให้ทุกศาสตร์สาขาเกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง

ทางออกของการพัฒนาประเทศแท้จริงจึงต้องเริ่มต้นจากการกลับมาพัฒนามหาวิทยาลัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีเป้าหมายพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ชี้นำทางปัญญา ทำหน้าที่เป็นมดลูกคลอดประเทศ มหาวิทยาลัยจึงต้องมิใช่ผู้ตามกระแสสังคม แต่ต้องเป็นผู้ชี้ทิศนำทางสังคม สามารถเป็นที่พึ่งทางด้านวิทยาการความรู้ให้แก่ประเทศชาติสังคมได้อย่างแท้จริง

การก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีส่วนช่วยเตรียมกำลังคนของประเทศให้พร้อม เป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะและคุณภาพ เช่น สร้างบรรยากาศให้เกิดการกระจายผู้เรียนที่มีสติปัญญาเลิศอยู่ในทุกศาสตร์ ทั้งศาสตร์สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและศาสตร์สาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อย่างเหมาะสม สมดุล ครบถ้วน ปัจจุบันเราจะเห็นว่าผู้เรียนเก่งหรือผู้เรียนที่มีสติปัญญาเลิศมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางสาขา ขณะที่สาขาวิชาสำคัญกลับขาดแคลนผู้เรียนที่มีคุณภาพ      

ด้วยสภาพบริบทสังคมยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ศาสตร์สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีแนวโน้มทวีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่ศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์บางสาขามีแนวโน้มลดบทบาทหรือความสำคัญลง ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องธำรงรักษาศาสตร์สาขาวิชาที่ยังมีผู้เรียนไว้ เพื่อทำให้ประเทศมีองค์ความรู้ครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อประเทศชาติที่ต้องพึ่งมหาวิทยาลัยอย่างมากทางด้านวิชาการความรู้

ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะและเป็นผู้ชี้นำทางปัญญา เช่น เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวของฮาร์วาร์ดได้นำเสนอข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาจากรั้วฮาร์วาร์ดที่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาจากทางมหาวิทยาลัย สำหรับครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 7,066 คน เฉพาะวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College) เพียงวิทยาลัยเดียวมีผู้สำเร็จการศึกษาถึง 1,541 คน ขณะที่วิทยาลัยที่มีผู้สำเร็จการศึกษามากที่สุดรองจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังคงเป็นวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 936 คน ตามมาด้วยวิทยาลัยการศึกษาต่อเนื่องฮาร์วาร์ด (Harvard Extension School) 857 คน วิทยาลัยนิติศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) 781 คน บัณฑิตวิทยาลัยครุศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Education) 732 คน วิทยาลัยสาธารณสุข ฮาร์วาร์ด ที. เฮช. ชาน (Harvard T.H. Chan School of Public Health) 640 คน บัณฑิตวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Graduate School of Arts and Sciences) 627 คน วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School) 561 คน วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ฮาร์วาร์ด จอห์น เอ. พอลสัน (Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences) 378 คน บัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Design) 353 คน วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School)  233 คน วิทยาลัยศาสนศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard Divinity School) 106 คน และวิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard School of Dental Medicine) 61 คน     

ผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ผ่านการคัดเลือกคัดสรร และถูกคาดหวังว่าจะมีส่วนสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคมเช่นเดียวกับกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก   

วิทยาลัยของฮาร์วาร์ดดังกล่าวเหล่านี้เป็นแหล่งสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะ สนับสนุนให้เกิดการวิจัยผลิตองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติและสังคม ปัจจุบันวิทยาลัยเหล่านี้ยังคงเปิดให้มีการเรียนการสอนตามปกติและมีการพัฒนาองค์ความรู้และรายวิชาใหม่ ๆ ที่มีความสอดคล้องเหมาะกับสภาพบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น วิชาหุ่นยนต์ภายในและภายนอกอาคาร (Robots In & Out of Buildings) ของบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ (Harvard Graduate School of Design) ที่ปัจจุบันยังเป็นประเด็นใหม่ ฮาร์วาร์ดถือเป็นมหาวิทยาลัยแถวหน้าในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดังกล่าวนี้  

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ 1 – พฤหัสบดี 7 กันยายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.