652398

พัฒนาสู่การเป็นเมืองศิวิไลซ์ : กรณีตัวอย่างเมืองคูริติบา

652398เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ผมขอเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ว่า ?ท้องถิ่นวันนี้ จะเป็นเมืองศิวิไลซ์ในวันข้างหน้า” เมืองศิวิไลซ์จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องเกิดจากชาวศิวิไลซ์ร่วมกันสร้างขึ้น ตามที่ผมได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ชาวอารยะ ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา และในหนังสือเล่มนี้ ผมได้เขียนแนวทางการพัฒนาคนในเมืองให้เป็นชาวศิวิไลซ์เอาไว้ด้วย

ตัวอย่างเมืองหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ เมืองคูริติบา ในประเทศบราซิล ในอดีตเมืองนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่จัดว่ายากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยในช่วงทศวรรษ 1970 ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรบราซิล แต่ปัจจุบันเมืองคูริติบามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรบราซิลถึงร้อยละ 66 และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก และเป็นเมืองที่ถูกเลือกให้เป็นสนามการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.2014 ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายนถึง 13 กรกฎาคมนี้

ความสำเร็จของเมืองนี้สามารถกล่าวได้ว่า เริ่มจากบุคคลผู้นี้ ?ไฮมี เลอร์เนอร์? (Jaime Lerner) ผู้เป็นทั้งสถาปนิก วิศวกร นักวางผังเมือง และนักมนุษยนิยม เขาได้รับเลือกจากชาวเมืองคูริติบาให้เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองคูริติบา และดำรงตำแหน่ง 3 สมัยรวมเป็นเวลา 12 ปี

ในช่วงเวลา 12 ปี ของการเป็นนายกเทศมนตรี เลรอ์เนอร์และทีมงานได้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาสู่เมืองนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ทำ ได้แก่ การสร้างระบบขนส่งมวลชนระดับโลก ?สถานีรถบนดิน? ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายรถประจำทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก จนไม่จำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งใต้ดิน ระบบขนส่งมวลชนนี้ทำให้คน 2 ล้านคนสามารถใช้บริการได้ทุกวัน และลดปริมาณรถยนต์บนถนนได้ถึงร้อยละ 30 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประหยัดการใช้น้ำมันลง 7 ล้านแกลลอนต่อปี

เลอร์เนอร์และทีมงานสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ของสวนในเมืองให้สามารถเป็นที่ควบคุมป้องกันน้ำท่วมแทนการสร้างคลองคอนกรีต ทำให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 1 ตารางเมตรต่อคนในปี ค.ศ.1970 เป็น 52 ตารางเมตรต่อคนในปัจจุบัน สวนสาธารณะเหล่านี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งคนสามารถมารวมกลุ่มทำกิจกรรมกัน โดยได้เชื่อมโยงกับเส้นทางจักรยานซึ่งมีความยาวมากกว่า 120 ไมล์ มีโครงการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยให้เมืองไม่ร้อนเกินไป และมีการยกเว้นภาษีสำหรับพื้นที่เอกชนที่เป็นสวนสาธารณะและพื้นที่ป่าในเมือง รวมทั้งทำให้พื้นที่ย่านการค้าใจกลางเมืองกลายเป็นถนนคนเดิน

โซนอุตสาหกรรมยังได้ถูกกำหนดแยกจากโซนที่พักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรมถูกกำหนดให้ต้องมีระบบการกำจัดกากของเสียภายในโรงงานของตน อุตสาหกรรมที่สะอาดจะได้รับการยกย่องให้มีชื่อเสียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

เลอร์เนอร์ยังได้ดำเนินโปรแกรมรีไซด์เคิลครบวงจร ทุกโปรแกรมริเริ่มโดยเด็ก ๆ เช่น การนำอาคารเก่าที่มีค่าทางประวัติศาสตร์มาใช้ประโยชน์ โดยจัดทำเป็นโรงเรียนและสำนักงาน นำรถประจำทางเก่า ๆ มาใช้เป็นห้องเรียนสำหรับผู้ใหญ่ และสร้างแรงจูงใจให้กับคนยากจนในการช่วยรีไซเคิ้ล ทำให้คิริติบาเป็นเมืองที่มีอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่สูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลก

ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่มีอัตราประชากรอ่านออกเขียนได้สูงสุดในบราซิล (ร้อยละ 94 ในปี ค.ศ.1996) มีสถานดูแลเด็กเวลากลางวันเปิดให้บริการฟรีสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย และเปิด 11 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ประชากรเด็กในเมืองนี้ถึงร้อยละ 96 ยังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ในการทำงานของเลอร์เนอร์และทีมงาน เริ่มจากการมีทัศนคติว่า ?ทุกอย่างสามารถทำได้? เขาได้กล่าวไว้ว่า ?ผมพยายามทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น?

ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นแบบฉบับความสำเร็จของคูริติบาคือ เมืองนี้ไม่ได้พึ่งพิงเงินก้อนใหญ่ แต่อยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าเผชิญความเสี่ยง ในการแก้ปัญหาของเมืองไม่ได้เกิดจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เกิดจากการนำกลุ่มคนที่มีทักษะที่หลากหลายและประชาชนเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวเมืองคูริติบายกย่องชมเชยเมืองของพวกเขา การสำรวจครั้งหนึ่งพบว่า ชาวเมืองมากกว่าร้อยละ 99 กล่าวว่าพวกเขามีความสุขที่ได้อยู่ในเมืองนี้ และจากการสำรวจประชาชนที่อาศัยในเมืองเซาเปาโลร้อยละ 70 คิดว่า ชีวิตพวกเขาจะดีขึ้น หากได้อาศัยอยู่ในเมืองคูริติบา

บทเรียนสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเมืองคูริติบา และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเมืองของไทยได้ ดังนี้

ประการแรก “การที่ผู้บริหารเมืองมีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุข” อย่างที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของชาวเมือง ซึ่งเป้าหมายนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่อยากเห็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองในทุกมิติ และเป็นที่มาของนโยบายและแผนดำเนินการต่าง ๆ อาทิ การกำหนดโซนพื้นที่อุตสาหกรรม การปรับภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมพื้นที่เมืองให้น่าอยู่อาศัย การพัฒนาระบบการป้องกันภัยทางธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคมและด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นทั้งต่อผู้อยู่อาศัยและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ประการที่สอง “การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมของประชาชนในพื้นที่” ความสำเร็จในการพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนขาดวิสัยทัศน์ร่วมกัน สังเกตได้ว่า เมืองคูริติบาเป็นเพียงพื้นที่ที่ไม่ใหญ่โตนัก ซึ่งอาจเปรียบได้กับพื้นที่ในชนบทของประเทศไทย แต่ผู้บริหารเมืองสามารถทำให้คนในพื้นที่ร่วมมือกันได้ ทำให้ความศิวิไลซ์เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นได้

ประการที่สาม “การใช้ศักยภาพของคนในพื้นที่” แม้ว่าเลอร์เนอร์มีความรู้และความสามารถด้านการวางโครงสร้างผังเมือง แต่ยังขาดทักษะอีกหลายประการที่จำเป็นต่อการพัฒนาเมือง เลอร์เนอร์มีมุมมองว่าทุกคนมีศักยภาพ จึงสร้างกลไกที่ทำให้สามารถดึงศักยภาพของประชาชนออกมาร่วมพัฒนาเมืองได้เป็นผลสำเร็จ แม้แต่เด็ก ๆ ยังเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ดังตัวอย่างโครงการรีไซเคิ้ล

ประการที่สี่ “การพยายามพึ่งพาตนเอง” โดยการพัฒนาชาวเมืองให้มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วยการมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แนวทางการพัฒนาไม่ได้มาจากการพึ่งพิงงบประมาณจากส่วนกลาง แต่เกิดจากการรวบรวมทรัพยากรและทุนมนุษย์ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งแนวทางนี้ส่งผลให้ชาวเมืองเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของเมืองและช่วยกันดูแลเมืองเป็นอย่างดี

หากเมืองหลวงของประเทศไทย คือ กทม. มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ และบริหารโดยมีการนำนโยบายที่ก้าวหน้ามาใช้ จะสามารถพลิกฟื้น กทม. จากสภาพที่มีปัญหามากมายได้ ในขณะเดียวกันที่ชาว กทม. เปิดใจและไม่มองเพียงความจำกัดของอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการ กทม. และร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนการบริหารนโยบายที่ดี เพราะเครื่องมือในการพัฒนา กทม.มีมากกว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ดังที่อดีตผู้บริหารของเมืองคูริติบาได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

หากชาว กทม.อยากเห็นการพัฒนา กทม.อย่างก้าวกระโดด การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ในอนาคต ชาว กทม. จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670×490/cover/652398.jpeg