พัฒนาความรู้และทักษะอย่างไร ไม่ให้เทคโนโลยีแย่งงานคุณ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการที่มนุษย์จะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน รวมทั้งมีการคาดการณ์แนวโน้มอาชีพที่จะสูญหายไปในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังมีอีกมุมมองที่มองว่า ยิ่งเครื่องจักรมีอิทธิพลมากขึ้น มนุษย์ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเช่นกัน

Royal Bank of Canada ได้จัดทำรายงานตลาดแรงงานในประเทศ หรือ Humans Wanted โดยระบุว่า ความเชี่ยวชาญทางดิจิทัลมีความสำคัญเทียบเท่ากับการรู้หนังสือและความสามารถในการคำนวณ เพราะเป็นความรู้และทักษะที่สำคัญในโลกการทำงานยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีในอนาคต

รายงานดังกล่าวสรุปว่า ครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในแคนาดามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2020 แต่ก็มีความเห็นว่า ในยุคแห่งการนำเครื่องจักรมาใช้แทนคนไม่ได้เป็นภัยคุกคามเสมอไป

กล่าวคือ แม้การใช้มนุษย์ทำงานบางประเภทจะหยุดชะงักอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า จะมีตำแหน่งงานกว่า 2.5 ล้านตำแหน่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในแคนาดาในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งหากกำลังแรงงานมีทักษะพื้นฐานพร้อมสำหรับการทำงานและบทบาทที่หลากหลายมากขึ้นและบูรณการมากขึ้น ก็ไม่มีสิ่งใดต้องวิตกกังวล

นอกจากนี้ รายงาน Humans Wanted ยังพบว่า เศรษฐกิจในอนาคต ที่การจ้างงานมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามคลื่นเทคโนโลยีใหม่นั้น การเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงทักษะ (skills mobility) จะมีความสำคัญมากขึ้น

โดยรายงานฉบับนี้ได้ระบุทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ เพื่อที่จะไม่ถูกเทคโนโลยีแย่งงาน อาทิ การคิดวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และความคิดสร้างสรรค์ และต้องใช้ทักษะเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ (mental flexibility) และการรักษาความสมดุลทางอารมณ์ (emotional balance) ขั้นสูง

ในความเห็นของผม ทักษะที่ระบุในรายงานฉบับนี้มีความจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีทักษะอื่นๆ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่ต้องเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งผมได้เขียนไว้ในหนังสือ “คนเก่งสร้างได้: โมเดลสมรรถนะ KSL31220” ว่า ความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิตที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตเป็นอย่างไร

หากพิจารณาเฉพาะด้านความรู้และทักษะ ผมขอนำเสนอความรู้ 3 ประการ คือ รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล และทักษะแห่งยุค ที่คนในสังคมควรพัฒนาอย่างน้อย 12 ทักษะ โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  • เก่งคิด – ทักษะการคิด การใช้เหตุผล และการตัดสินใจ
  • เก่งสื่อ – ทักษะภาษา และการสื่อสาร
  • เก่งงาน – ทักษะการจัดการ (ตน คน งาน เงิน) การจัดระบบ การใช้เทคโนโลยี การประกอบการ
  • เก่งคน – ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การสร้างเครือข่าย และการเป็นผู้นำ

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งผมขอเสนอแนวทางการเรียนรู้อย่างน้อย 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

  1. จาก “การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรสำเร็จรูป” เป็น “การเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง”

ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่ข้อมูลล้นโลกและเราสามารถหาข้อมูลได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดความรู้แบบป้อนข้อมูล โดยให้ครูอาจารย์เป็นผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดทางเดียว หรือการเน้นให้ฝึกฝนตามกลุ่มทักษะแบบสำเร็จรูป จึงไม่อาจส่งเสริมความรู้และทักษะได้มากเท่ากับการให้เรียนรู้ผ่านการมีประสบการณ์โดยตรงด้วยตัวเอง เช่น การทำโครงงาน การศึกษาวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม การฝึกงาน การทดลอง เป็นต้น

งานที่เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีจะมาทำแทนมนุษย์ จะเป็นงานที่มีลักษณะเป็นศาสตร์ มีรูปแบบ ขอบเขต หรือกติกาที่แน่นอน แต่งานที่เทคโนโลยีจะยังทำแทนมนุษย์ไม่ได้ คืองานที่มีการใช้ศิลป์ในการทำงาน หรืองานที่ใช้การตัดสินใจตามความเหมาะสม (normative) ไม่ใช่การตัดสินใจตามกฎเกณฑ์ตายตัว และโดยเฉพาะงานที่ต้องเกี่ยวข้องหรือปฏิสัมพันธ์กับคน ซึ่งทักษะการทำงานเหล่านี้ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝนผ่านการทำงานจริง ไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้แบบสำเร็จรูปหรือสถานการณ์จำลองเท่านั้น

  1. จาก “การเรียนรู้เป็นลำดับขั้น” เป็น “การเรียนรู้แบบเชื่อมโยงความรู้”

การเรียนรู้เป็นลำดับขั้นในที่นี้ หมายถึง การเรียนรู้แบบสาขาวิชาเชิงเดี่ยว โดยเรียนเป็นลำดับขั้นจากวิชาที่ง่ายไปหาวิชาที่ยากเหมือนการเรียนในคณะหรือสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อดีในแง่การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แต่งานที่ใช้ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายงานจะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ซึ่งไม่เพียงแต่งานที่ใช้แรงงานไร้ทักษะหรือกึ่งทักษะเท่านั้น แต่รวมถึงงานบางประเภทของแรงงานมีทักษะด้วย เช่น บัญชี แพทย์ อาจารย์ ผู้ประกาศข่าว นักคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนงานที่จะยังไม่ถูกเทคโนโลยีแย่งงานไป คือ งานที่อาศัยความสามารถในการคิด (เช่น การคิดสร้างสรรค์ การคิดประยุกต์) การสร้างสรรค์นวัตกรรม การนำ การบริหารจัดการ การประกอบการ ซึ่งต้องอาศัยความรู้และทักษะที่หลากหลายประกอบกัน

ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อการทำงานในอนาคต จึงควรเป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามบริบท/ภาคส่วน ข้ามประเด็นทางสังคม โดยการเอื้อให้เกิดการเข้าถึงแหล่งความรู้และทักษะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ทำให้สามารถเรียนรู้ข้ามขั้นตอนและเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีหลากหลายได้

  1. จาก “การเรียนรู้ตามงาน” เป็น “การเรียนรู้ตามศักยภาพ”

แนวคิดของการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อให้มีความรู้และทักษะเหมาะสมกับการทำงานบางประเภท หรือเป็นการฝึกฝนเพื่อประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหนึ่งๆ อย่างเจาะจง ซึ่งทำให้เกิดการจัดหลักสูตรการศึกษาตามศาสตร์ต่างๆ โดยพิจารณาจากลักษณะงาน หรือตามบทบาทและขอบเขตความรับผิดชอบของอาชีพนั้นๆ

เมื่องานที่ทำมีศาสตร์ มีรูปแบบ มีขอบเขตที่ชัดเจน และมีคนทำงานนั้นเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาแทนที่ได้ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความคุ้มค่าในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นมาทำงานแทนมนุษย์

แต่งานที่จะไม่ถูกเทคโนโลยีทำแทน คือ งานที่ใช้ความสามารถพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งทำให้ในอนาคตมีแนวโน้มจะเกิดอาชีพใหม่ๆ จำนวนมาก เป็นอาชีพที่ไม่เหมือนใคร หรือเป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อทำงานแทนอาชีพเหล่านี้

การเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อการทำงานในอนาคตจึงควรเป็นลักษณะการเรียนรู้ตามศักยภาพ กล่าวคือ จัดการเรียนรู้ให้เหมะกับศักยภาพของแต่ละคน ไม่ใช่การเรียนเหมือนๆ กันทุกคน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้และทักษะที่แตกต่างจากคนอื่น และสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

เมื่อเรามีความรู้และทักษะที่เหมาะสมกับยุค อันเกิดจากการเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม ก็จะไม่ถูกแย่งงาน ไม่เพียงแต่เครื่องจักรและเทคโนโลยีเท่านั้น แม้แต่ใครๆ ก็ทำแทนไม่ได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.