ผลวิจัยด้านสังคมวิทยาของฮาร์วาร์ดที่ได้รับรางวัล Erasmus (ราสมุส) ปี 2017

ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญด้านการวิจัยในสาขาต่างๆ รวมถึงด้านสังคมวิทยาในประเด็นเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยด้านนี้อย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง และมีผลเชิงประจักษ์ที่โดดเด่นคือ Michele Lamont ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งฮาร์วาร์ดได้รับรางวัล Erasmus 

รางวัล Erasmusเป็นรางวัลประจำปีจาก Praemium Erasmianum Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธินักสังคมวิทยาวัฒนธรรมและการเปรียบเทียบจากประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งมอบให้บุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานยอดเยี่ยมในด้านวัฒนธรรมและด้านสังคมวิทยาในยุโรปเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จที่โดดเด่นของยุโรป การมอบรางวัลครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1958 มีผู้ได้รับรางวัลทั้งตัวบุคคลและสถาบันมาแล้ว 79 รางวัล และรางวัลที่ 80 ในปี 2017 นี้เป็นของ Michele Lamont แห่งฮาร์วาร์ด 

รางวัลนี้ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยของ Lamont ว่า เป็นผลงานที่ท่านได้ทุ่มเทวิจัยงานด้านความหลากหลายทางชาติพันธ์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้อำนาจและความหลากหลาย ซึ่งผลงานของท่านมีอิทธิพลต่อความหลากหลายและชนกลุ่มน้อยอย่างมาก เพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้รับประโยชน์และมีความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม งานศึกษาของท่านเน้นศึกษาว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร และกลุ่มคนที่ถูกตราหน้า จะมีหนทางใดบ้างที่จะรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนไว้ได้ การวิจัยเชิงเปรียบเทียบของ Lamont ได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เสียเปรียบหรือชนกลุ่มน้อย จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการเคารพเห็นคุณค่าของตัวเองและการเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์อันจะช่วยทำให้มีความเข้าใจกันระหว่างบุคคลมากขึ้น นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Lamont ได้ทุ่มเททำงานวิจัยในด้านสังคมวิทยาอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจนผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัล Erasmus ในปีนี้ Lamont เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาตั้งแต่ปี 1987 ในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา และในปี 2003 มาเป็นอาจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเรื่องแอฟริกัน, แอฟริกัน-อเมริกันศึกษา, ยุโรปศึกษา เป็นผู้อำนวยการ Weatherhead Center for International Affair ที่ผมเคยสังกัดอยู่ เป็นศูนย์การวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นนักเขียน มากกว่านั้น Lamont ยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อพื้นที่ในยุโรปและอเมริกาในงานวิจัยด้านสังคมวิทยาในปี 2002 Lamont เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโปรแกรมสังคมที่ประสบความสำเร็จที่สถาบันวิจัยขั้นสูงในประเทศแคนาดา (Canadian Institute for Advanced Research) ที่ศึกษาถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาสังคมให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ อันจะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและมีความสงบสุข 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ผมได้เขียนแนวคิดสังคมพหุเอกานิยม (Unified Pluralistic Society) ในหนังสือสังคมพหุเอกานิยม (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2544) ว่า สังคมพหุเอกานิยม คือ สังคมที่นิยมความมีเอกภาพในความหลากหลาย เป็นสังคมที่ทุกคนแม้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างในความคิดทางการเมือง เชื้อชาติ ลัทธินิกายของศาสนา ความเชื่อ ฐานะ อายุ วัฒนธรรม ประเพณี เพศ อาชีพ และชนชั้นทางสังคม ก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นสังคมที่คนมีหัวใจแห่งเสรีภาพ เคารพให้เกียรติกัน ยอมรับในความแตกต่าง ทุกกลุ่มมีอิสระในการดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตน ในเรื่องที่ไม่เสียหายและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  ที่สำคัญคนทุกคนต่างร่วมกันใช้ส่วนที่ดีในความแตกต่างนั้นเป็นพลังพัฒนาประเทศอย่างเป็นเอกภาพ

มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยที่สำคัญของสังคม ซึ่งการวิจัยทางด้านสังคมวิทยาและมานุษวิทยา เป็นประเด็นสำคัญที่ควรมีการวิจัยและศึกษาอย่างบูรณาจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากโลกที่มีการเชื่อมกันในทุกด้าน และโดยเฉพาะปัจจัยการเปิดประชาคมอาเซียนที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของอาเซียนที่จะมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม เข้ามาติดต่อ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกับคนไทย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยมีบทบาทวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยมุ่งเพื่อส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศพหุเอกานิยมที่ผสมผสานความคิด และทำให้เกิดการก่ายกันขึ้นทางปัญญา แต่ละคนรู้จักนำส่วนดีของกันและกันมาใช้ประโยชน์โดยปราศจากอคติ การกีดกันทางความคิดย่อมจะทำให้ไทยมีความพร้อมเข้าใช้ประโยชน์จากโอกาสการเปิดประชาคมอาเซียนและการเชื่อมต่อกับนานาชาติที่เปิดกว้างได้มากขึ้น อีกทั้งภายในประชาคมมหาวิทยาลัยเองควรส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศพหุเอกนิยม เช่น การส่งเสริมให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมีเวทีพบปะพูดคุยทางปัญญาทั้งแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการภายในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาแต่ละคนนำความแตกต่างหลากหลายของตนเองมาเสริมสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น 
 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 31 วันศุกร์ 14 – พฤหัสบดี 20 เมษายน 2560

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://i.ytimg.com/vi/W3ZyPtngHqM/maxresdefault.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.