ผมเสนอ AIMMI Model: ผลวิจัยฮาร์วาร์ดชี้ “รูปแบบการให้รางวัลต่างกันส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้รับต่างกัน”

ผมเคยนำเสนอความคิด AIMMI Model เอาไว้ในหลายเวทีและเคยเขียนเป็นบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

  • A คือ Aspiration เป้าทะยานใจ
  • I คือ Inspiration แรงบันดาลใจ
  • M ตัวแรกคือ Motivation แรงจูงใจ
  • M ตัวที่สองคือ Motive มูลเหตุแห่งใจ และ
  • I ตัวสุดท้ายคือ Incentive สิ่งประสงค์ล่อใจ

ความคิดของผมดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า การเคลื่อนคนหากทำครบทั้ง AIMMI Model จะเห็นการเคลื่อนตนเองและผู้อื่นอย่างคงเส้นคงวา มนุษย์แต่ละบุคคลมี AIMMI Model ในเนื้อหาและระดับมากน้อยต่างกัน หากเข้าใจและมีการจัดให้เข้าที่จะสามารถเคลื่อนตนเองและผู้อื่นตามศักยภาพที่แต่ละบุคคลมีได้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด[1] การเข้าใจ AIMMI Model จะเป็นประโยชน์หากนำมาใช้เชิงบวก ทำให้เข้าใจในความแตกต่างและความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ทั้งนี้การจูงใจและการให้รางวัลด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องทำอย่างถูกวิธีที่จะส่งผลให้ได้ตามเป้าหมาย

ตัวอย่างผลการวิจัยล่าสุดของฮาร์วาร์ดที่นำเสนอในเว็บไซต์ของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School of Government) เกี่ยวกับ แรงจูงใจที่ลดลงอันเนื่องจากได้รับรางวัลที่ผู้รับคาดไม่ถึงว่าจะได้หรือรางวัลไม่ได้มีการประกาศไว้ล่วงหน้า โดยนักวิจัยฮาร์วาร์ด นักวิจัยมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด นักวิจัยวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ และนักวิจัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส

การวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการทดลองภาคสนามแบบสุ่ม (randomized field experiment) เป็นการศึกษาผลกระทบของการให้รางวัล 2 แบบต่อพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าเรียน คือ การให้รางวัลที่มีการประกาศไว้ล่วงหน้าหรือรางวัลที่ผู้รับคาดหวังว่าจะได้ (pre-announced awards or prospective)   และการให้รางวัลที่ไม่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าหรือรางวัลที่เป็นเซอร์ไพรส์ (surprise awards or retrospective) ซึ่งโครงการวิจัยนี้ตั้งสมมุติฐานว่าการให้รางวัลที่มีการประกาศไว้ล่วงหน้าจะส่งผลเชิงบวกต่อพฤติกรรมของผู้รับ และการให้รางวัลที่ไม่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้รับ โดยทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนเกรด 6-12 ใน 14 เขตการศึกษาบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา 15,329 คน

จากการศึกษาพบว่า ผลที่ได้ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ การให้รางวัลที่ประกาศไว้ล่วงหน้า “ไม่มีผล” ต่อพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าเรียน (ไม่เพิ่ม หรือ ลดพฤติกรรมเป้าหมาย) ขณะที่การให้รางวัลที่ไม่ได้ประกาศล่วงหน้านั้นมีผล “ลดทอน” พฤติกรรมเป้าหมายลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่นักเรียนตีความว่า การได้รางวัลเป็นผลจากการที่เขาเข้าเรียนมากเกินพอดีในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นในอนาคตเขาจึงสามารถขาดเรียนได้บ้าง ประกอบกับการให้รางวัลที่ไม่ได้ประกาศล่วงหน้าทำให้นักเรียนที่ได้รับรางวัลรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน เนื่องจาก ครูให้รางวัลโดยประกาศต่อหน้าเพื่อนโดยไม่ได้ตั้งตัว ดังนั้นเมื่อนักเรียนคิดเช่นนี้ จึงปรับพฤติกรรมด้วยการเข้าเรียนน้อยลงในเวลาต่อมา

ไม่เพียงเท่านั้นในงานวิจัยนี้ยังมีการศึกษาผู้บริหารโรงเรียนด้วยว่ามีการให้รางวัลอย่างไร และคิดว่าการให้รางวัลของตนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลการศึกพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่คิดว่าวิธีการให้รางวัลที่ดำเนินการอยู่นั้นมีประสิทธิภาพแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงวิธีการให้รางวัลที่ประกาศไว้ล่วงหน้าและรางวัลที่ไม่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าไม่มีผลต่อพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการ (การเข้าเรียน) และยังอาจส่งสัญญาณผิดทำให้นักเรียนขาดเรียนมากขึ้นก็เป็นได้ดังที่ได้อธิบายไปตอนต้น[2]  

คำถามต่อมา คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะให้รางวัลอย่างไรจึงจะเหมาะสม? ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี้ไม่ได้เสนอแนะข้อเสนอที่เจาะจงเอาไว้และไม่ได้ระบุว่าเราไม่ควรให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจ บอกแต่เพียงว่าหากต้องการจะให้รางวัลต้องคำนึงถึงเวลาและวิธีการที่เหมาะสม

จากประสบการณ์ของผมและจากการพิจารณางานศึกษานี้และงานศึกษาอื่นๆ พบว่า หากต้องการให้รางวัลเพื่อจูงใจให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมอาจให้รางวัลโดยอาศัยเกณฑ์ต่อไปนี้ คือ

1) ให้รางวัลโดยประกาศล่วงหน้า ดีกว่า ให้โดยไม่ประกาศไว้ก่อน

2) ให้รางวัลโดยดูจากความพยายาม ดีกว่า ให้โดยดูจากผลลัพธ์[3]

3) ให้รางวัลทันที (Immediate reward) ดีกว่า ทิ้งระยะเอาไว้นานกว่าจะให้รางวัล[4]

4) ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่เจาะจง (well-specified) ดีกว่า ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่กว้างๆ[5] เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี้แม้จะได้ตอบทุกคำถามที่เกี่ยวข้อง แต่ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ เนื่องจาก ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องฉุกคิดเรื่องการให้รางวัล ซึ่งหากทำโดยระวังไม่ให้ แทนที่จะส่งเสริมพฤติกรรมเป้าหมาย แต่จะกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดและทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่ลดลงได้ ดังนั้นหากโรงเรียนหรือคุณครูต้องการให้รางวัลที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างแท้จริงจึงควรพิจารณาวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสม โดยพิจารณาผลกระทบทางตรงและทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะสามารถให้รางวัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดต่อไปในอนาคต

 

[1] ผมนำเสนอครั้งล่าสุดอีกครั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาสยามอารยะ หัวข้อ AIMMI Model วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก The Demotivating Effect (and Unintended Message) of retrospective Awards, HKS Faculty Research Working Paper Series <https://www.hks.harvard.edu/publications/demotivating-effect-and-unintended-message-retrospective-awards>

[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Carol Dweck – A Study on Praise and Mindsets <https://www.youtube.com/watch?v=NWv1VdDeoRY&feature=youtu.be&fbclid=IwAR3WXGvMRJEestDMvIaZyC_xFklmH0207GAcNRU6WYTXrgC1MbWwIQe6JhE>

[4] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Tali Sharot – How to motivate yourself to change your behavior <https://youtu.be/xp0O2vi8DX4>

[5] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Uri Gneezy, Stephan Meier, and Pedro Rey-Biel – When and Why Incentives (Don’t) Work to Modify Behavior <https://rady.ucsd.edu/faculty/directory/gneezy/pub/docs/jep_published.pdf>

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ 7 – พฤหัสบดี 13 ธันวาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.