ประเทศไอร์แลนด์: การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความตั้งใจจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง เห็นได้จากนโยบายและวิสัยทัศน์ของประเทศในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงปฏิรูปพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่สามารถก้าวข้ามจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงได้ หนึ่งในนั้น คือ ประเทศไอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้กับระบบเศรษฐกิจประเทศไทยได้

เศรษฐกิจของไอร์แลนด์มีการขยายตัวอย่างมาก รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) ในปีค.ศ.1970 อยู่ที่ 10,297 ดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 45,735 ดอลลาร์ หรือสูงขึ้นถึง 4.4 เท่า ในปีค.ศ.2007 หากพิจารณาประเทศร่ำรวย 20 อันดับแรกของโลก ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในช่วงปี 1973 – 2007 นอกจากนี้หากพิจารณาวัฏจักรธุรกิจโลกทั้ง 4 ครั้ง คือ 1973 – 1979, 1979 – 1989, 1989 – 2000, 2000 – 2007 จะพบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้ต่อหัวประชากรในช่วงวัฏจักรธุรกิจ 2 ครั้งหลัง ไอร์แลนด์มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐหรือญี่ปุ่น เป็นต้น (Kenworthy, 2011)

กว่าจะมาถึงจุดดังกล่าวเศรษฐกิจไอร์แลนด์ต้องผ่านช่วงเวลาต่างๆ มากมาย โดยในช่วงปีค.ศ.1960 – 1973 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.4 ต่อปี เนื่องจากนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการค้าและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ โดยมีมาตรการการเปิดเสรีทางการค้า การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้แล้วยังพัฒนาประเทศโดยการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปีค.ศ.1965 เป็นต้นมา

ขณะที่ในช่วงปีค.ศ.1973 – 1986 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากไอร์แลนด์ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้เกิดรายจ่ายและภาระหนี้สินจำนวนมากและก่อให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามมา ประกอบกับราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูงขึ้น ในช่วงนี้ไอร์แลนด์ต้องประสบปัญหาการย้ายถิ่นฐานออกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอัตราการว่างงานของประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป (EU) และปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงเกินจริง (ค่าจ้างเพิ่มสูงกว่าระดับประสิทธิภาพของแรงงาน) จากปัญหาและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เกิดนโยบายการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในปีค.ศ.1987 ภายใต้รัฐบาลใหม่ โดยแผนฯ ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง ข้อตกลงในการกำกับดูแลเรื่องการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนและการปฏิรูปลดภาษีส่วนบุคคล

จากแผนการดังกล่าวทำให้ในช่วงปีค.ศ.1987 – 2000 กลายเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแรงและต่อเนื่องมากที่สุดสำหรับไอร์แลนด์ โดยในปีค.ศ.1987 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างฉุดไม่อยู่และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไอร์แลนด์ คือ จากเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปยุโรป สามารถก้าวขึ้นมาสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงอย่างมหัศจรรย์ กล่าวคือ ไอร์แลนด์ใช้เวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น ในการก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยระยะเวลาการเติบโตทางเศรษฐกิจอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงปีค.ศ.1987 – 1995 คือ มีรายได้ต่อหัวประชากรระยะเริ่มต้นที่ 15,402 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่ในช่วงท้ายของช่วงเวลา มีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 22, 928 ดอลลาร์ต่อปี โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เป็นผลมาจากการส่งเสริมการส่งออกและการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะภาคบริการทางการเงิน ที่ได้รับแรงหนุนจากการเป็นศูนย์ให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศในปีค.ศ.1987 รวมถึงการพัฒนาภาคการผลิต ซึ่งมีผลทำให้อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 16 ในปีค.ศ.1986 เหลือเพียงร้อยละ 4 ในปี 2000 เป็นต้น

ประเทศไอร์แลนด์ก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เนื่องจากมีการเปิดการค้าเสรี ทั้งการส่งออก การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศทั้งภาคบริการและการผลิตโดยการลดภาษีนิติบุคคล รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของตลาดการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

จากบทเรียนของประเทศไอร์แลนด์ พบว่า การที่จะเปลี่ยนสถานะจากประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูงนั้น หนึ่งในปัจจัยหลัก คือ การรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจมหภาคและวัฏจักรธุรกิจ เป็นต้น

นอกเหนือจากบทเรียนของไอร์แลนด์ การก้าวไปสู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงอาจทำได้โดยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีการเน้นใช้ทุนทางกายภาพ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ เทคโนโลยีขั้นสูง และทุนมนุษย์ เช่น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง อย่างประเทศมาเลเซีย ไทย และประเทศแถบละตินอเมริกา ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศให้มากขึ้น เพราะอัตราการเติบโตที่ลดต่ำลง มีสาเหตุและปัจจัยต่างๆ มาจากความล้มเหลวในการกระจายการผลิต ไม่ว่าจะเป็น การใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เน้นใช้แต่แรงงาน (labor – intensive)

สำหรับประเทศไทย เพื่อจะก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ควรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนปัญหาเป็นความท้าทาย นำบทเรียนจากประเทศต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เร่งพัฒนาจุดอ่อน เสริมสร้างจุดแข็ง รวมทั้งระมัดระวังและคำนึงความสมดุล การรักษาเสถียรภาพในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://blog.vistage.com/wp-content/uploads/2013/01/economic-growth.jpg