ประเทศไทยกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้

         เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ผมได้มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ (Key note Speech)เรื่อง “ประเทศไทยกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้” ในพิธีมอบโล่เกียรติยศแด่บุคคลดีเด่นในด้านการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประเทศประจำปี 2559 โดยผมได้วิเคราะห์และนำเสนอแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

         ตลอดปี 2559 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit การก่อการร้ายในยุโรปอย่างต่อเนื่องความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ปรากฏการณ์โรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ เป็นต้น

         จากการสังเกตและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ผมมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางประการที่จะเกิดขึ้นหรือเป็นกระแสของโลกหรือของหลายประเทศในปีที่กำลังจะมาถึง

         1.ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และลัทธิปกป้อง (Protectionism) ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ นโยบายของประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างโดนัลด์ทรัมป์ซึ่งมีแคมเปญหาเสียง “Make America Great Again” และนโยบาย “Putting America First” โดยมุ่งเน้นปกป้องและยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก การทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่ รวมทั้งสร้างความเป็นชาตินิยมมากขึ้นเช่น ในช่วงหาเสียง ทรัมป์ได้แสดงออกชัดเจนถึงความต้องการใช้กำแพงภาษีและมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

         ไม่ว่านายโดนัลด์ทรัมป์จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเสียงของประชาชนชาวอเมริกาสะท้อนถึงความต้องการให้ทรัมป์กอบกู้ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่มีอเมริกาเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่ หรือในกรณี Brexit ที่สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรมองว่าสหภาพยุโรปเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

         2.การเติบโตขึ้นของโลกาภิวัตน์ (Globalization)ภูมิภาคภิวัตน์(regionalization)และสภาวะข้ามชาติ (Transnationalization) กล่าวคือ ด้วยความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการให้โลกเกิดโลกาภิวัตน์ จึงพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศให้เชื่อมโยงระหว่างบุคคล ชุมชน องค์กร รัฐบาล ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สิ่งต่างๆ สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการรับรู้ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด ทั้งข้อมูลข่าวสาร โรคภัยไข้เจ็บ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นการก่อการร้าย ทำให้องค์กรระดับนานาชาติต้องเข้ามามีบทบาทและจัดการ รวมถึงการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแต่ละชาติจำเป็นต้องยอมสละอำนาจแห่งรัฐชาติบางประการในการเข้าร่วมกับองค์กรนานาชาติ เพื่อรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของประเทศตนเอง

         นอกจากนี้ โลกจะยังคงเผชิญกับความไม่สมดุลทางอำนาจต่อไป ด้วยทิศทางในอนาคตที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเป็นโลกหลายขั้วอำนาจและประเทศมหาอำนาจไม่ได้มีเพียงชาติเดียวหรือกลุ่มเดียวเท่านั้นเพราะแต่ละประเทศต่างมีความเชื่อมโยงกันและกันมากขึ้นมีการพึ่งพาและรวมกลุ่มทั้งในเชิงภูมิภาคและอุดมการณ์มากขึ้น จนบางครั้ง ทำให้การตัดสินใจประเด็นภายในประเทศยังต้องคำนึงถึงประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยที่ไม่สามารถสภาวะข้ามชาติได้เลย

         3.กระแสการเบื่อหน่ายนักการเมืองอาชีพ สังเกตได้จากจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่พบว่า มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2559 น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2555 และปี 2551 โดยในปี 2559 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ คิดเป็นร้อยละ 57.9 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ขณะที่ปี 2555 และปี 2551 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ร้อยละ 58.6 และ 61.6 ตามลำดับซึ่งนับเป็นข้อบ่งชี้ประการหนึ่งถึงอาการเบื่อการเมือง (Voter Apathy) นอกจากนี้ การที่โดนัลด์ทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางของนักการเมืองอาชีพมาก่อน และไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองก็ว่าได้ เป็นอีกตัวสะท้อนหนึ่งของความเบื่อหน่ายนักการเมืองอาชีพของประชาชนสหรัฐฯ

         สาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสความเบื่อหน่ายนักการเมืองอาชีพ มาจากการที่นักการเมืองไม่สามารถทำตามได้อย่างที่พูดไว้ในช่วงหาเสียง มากยิ่งกว่านั้น ประชาชนต้องการนักการเมืองรุ่นใหม่ ร่วมสมัย ที่กล้าคิด กล้าทำและกล้ามีจุดยืนรวมทั้งหากเป็นได้ในการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่าง พูดคำไหน ทำอย่างนั้นไม่ต้องตีความรวมถึงการเป็นคนเท้าติดดินและเข้าใจความต้องการประชาชน ฯลฯ

         สังเกตได้จากการขึ้นมาของผู้นำของหลายชาติที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดและกล้าทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิมที่ตรงความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดา“จัสตินทรูโด”ที่มักทำอะไรแตกต่างจากเดิมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือนโยบายต่างๆ ของเขา เช่น การเตรียมผลักดันให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย การให้ความสำคัญกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม และประกาศถอนกำลังทหารในตะวันออกกลาง เป็นต้น

         นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย ที่แสดงถึงความเป็นผู้นำที่สมถะ ทั้งการแต่งกายและการรับประทานอาหารที่เรียบง่าย รวมทั้งการเดินทางไปเข้าร่วมงานฉลองการเรียนจบมัธยมปลายของบุตรชายที่สิงคโปร์โดยการโดยสารที่นั่งชั้นประหยัดด้วยเงินส่วนตัว

         หรือแม้กระทั่ง นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่แม้ว่าจะถูกโจมตีในเรื่องคำพูดที่สะท้อนทัศนะแบบตรงไปตรงมา แต่กลับได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะความเด็ดขาดในการกำจัดยาเสพติดด้วยการวิสามัญฆาตกรรมโดยอธิบายว่า ต้องลงมือทำ “สงครามขจัดยาเสพติด” มิฉะนั้น ฟิลิปปินส์จะกลายเป็น “รัฐยาเสพติด” เป็นต้น

         4.กระแสประชานิยมรายประเด็น กล่าวคือ ไม่ได้ใช้นโยบายหรือวิธีการเชิงประชานิยมทั้งหมดทุกด้าน แต่เลือกบางประเด็นที่เห็นว่าจะได้คะแนนเสียงหรือการยอมรับจากประชาชนอย่างง่ายๆ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ เดวิด คาเมรอนที่ประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะให้มีการทำประชามติว่าจะ ‘อยู่’ หรือ ‘ออก’ จากอียูจึงทำให้คาเมรอนได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง เป็นต้น

         แม้ประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ทว่าประเทศไทยจะได้รับผลจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ประเทศไทยจึงควรกำหนดบทบาทใช้ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อมและรับรองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับบทบาทในการรองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความตอนหน้าครับ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2017/01/09/8ebiacigjhb8gj8j99abb.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.