บล็อกเชน: เครื่องมือของคลื่นอารยะลูกที่หก ‘สังคมความดี’

ผมกล่าวไว้นานราว 20 ปีแล้วว่า สังคมไทยต้องมีชนชั้นที่วัดด้วย “ความดีงาม”
ความดี จะเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหามากที่สุดในอนาคต เห็นได้จากปัจจุบัน มีกระแสการเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานด้านคุณธรรม ระบบที่มีคุณธรรม ความโปร่งใส และภาคส่วนต่างๆ ต้องมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่า ความดีเป็นสิ่งที่สังคมในปัจจุบันโหยหา แต่ยังไปไม่ถึง
สังคมความดี เป็นคลื่นอารยะลูกที่หกหรืออารยะคลื่นลูกสุดท้าย ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของผมที่เกิดจากการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ฟังก์ชั่นการผลิต (Production Function) สร้างเป็นทฤษฎีทุนแนวใหม่เพื่อวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ โดยแบ่งเป็นคลื่นอารยะ 7 ลูก ตั้งแต่คลื่นลูกที่ 0 ถึงคลื่นลูกที่ 6 อันได้แก่ สังคมเร่ร่อน สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม สังคมข้อมูลข่าวสาร สังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี ตามลำดับ

ในความเห็นของผม การสร้างสังคมความดีนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงครบทุกองค์ประกอบ คือ คน ระบบ และบริบท อย่างสอดประสานกัน หรือที่ผมเรียกว่า “ไตรอารยะสภาพ”

– คนในสังคมจะต้องเป็นคนดี หรืออย่างน้อยต้องส่งเสริมคนดีให้ขึ้นเป็นชนชั้นนำของสังคม ซึ่งผมได้นิยาม “คนดี” ว่า เป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

 

– ระบบในสังคมต้องเป็นระบบที่ดี ซึ่งผมได้ให้นิยามว่า เป็นระบบที่ดีทำให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว

– บริบทของสังคมต้องเอื้อให้เกิดคนดีและระบบที่ดี และสนับสนุนการทำงานของคนดีและระบบที่ดี
ทั้งนี้ผมมองว่า คลื่นสังคมความดีกำลังก่อตัวชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ทั้งจากความปรารถนาของคนในสังคมและการเกิดขึ้นของเครื่องมือใหม่ ๆ ในการสร้างสังคมความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘บล็อกเชน (Blockchain)’

บล็อกเชนเปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบกระจายอำนาจ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมต่อกันเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain)

ผมได้วิเคราะห์ลักษณะเด่นและดีของบล็อกเชน ซึ่งเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างระบบที่ดี จนก่อให้เกิดเป็นสังคมความดีในอนาคต ไว้ดังต่อไปนี้

1. น่าเชื่อถือ (Trust) เพราะเมื่อมีกิจกรรมหรือธุรกรรมใด ๆ เกิดขึ้น ระบบจะทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยผู้ที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อช่วยยืนยันความถูกต้องของกิจกรรม/ธุรกรรม ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ
2. กระจายข้อมูลให้ทุกคนรู้ได้ (Decentralization) เนื่องจากบล็อกเชนเป็นเครือข่ายแบบกระจายไม่มีศูนย์กลางจัดเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกบันทึกและสำเนาข้อมูลไว้ในสมุดบัญชีแบบกระจาย (distributed ledger) หรือถูกจัดเก็บโดยคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่งทุกคนในเครือข่ายสามารถเข้าถึงได้
3. ข้อมูลเปลี่ยนแก้/ดัดแปลงไม่ได้ (Immutability) เพราะหากใครก็ตามที่พยายามจะเข้าไปแก้ไขข้อมูลหรือใส่ข้อมูลปลอมจะถูกตรวจสอบได้ทันที เพราะข้อมูลปลอมจะไม่ตรงกับชุดข้อมูลในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ในเครือข่าย
4. โปร่งใส (Transparency) เพราะข้อมูลเปิดให้ทุกคนเห็นได้และตรวจสอบได้ง่าย ไม่ขึ้นตรงกับคนหนึ่งคนใด
5. ตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) เพราะข้อมูลธุรกรรม/กิจกรรมถูกจัดเก็บตามลำดับเวลา ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นและตลอดทางของทุกเส้นทางกิจกรรม/ธุรกรรม
6. เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด (Stakeholder connectivity) เพราะเครือข่ายแบบออนไลน์ ทำให้สามารถเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้
7. รองรับข้อมูลขนาดมหึมาได้ (Big Data: can be used) ยกตัวอย่าง บล็อกเชนของเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์ (Bitcoin) มีเครือข่ายขนาดใหญ่ โดยเมื่อหลายปีที่แล้ว บิทคอยน์มีกำลังของคอมพิวเตอร์เครือข่ายมากถึง 3.5 ล้านเทราแฮชต่อวินาที ซึ่งมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 1 หมื่นแห่งรวมกัน ปัจจุบันเครือข่ายของบิทคอยน์มีกำลัง 17.6 ล้านเทราแฮชต่อวินาที ซึ่งใหญ่เกินกว่าระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ จะเข้าแทรกแซงได้
8. แสดงผลตามเวลาจริง (Real Time) เนื่องจากเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับระบบออนไลน์
9. มีประสิทธิภาพสูงสุด (Optimization) เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ
10. ช่วยสร้างแรงจูงใจ (Incentivitization) เพราะระบบบล็อกเชนดำเนินไปได้ด้วยการตรวจสอบจากผู้เล่นต่าง ๆ ในเครือข่าย ระบบนี้จึงสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เล่นในเครือข่ายให้แข่งขันกันตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ และบันทึกข้อมูลธุรกรรม โดยผู้เล่นที่ทำสำเร็จจะได้รับรางวัล เช่น ได้รับเป็นบิทคอยน์ เป็นต้น
11. ปลอดภัย (Security) เพราะมีการรับประกันความปลอดภัยโดยวิทยาการการเข้ารหัส ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าระบบอื่น

เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาประยุกต์ในการสร้างสังคมความดี เช่น การบันทึกข้อมูลประวัติการทำความดีของบุคคลได้อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการจัดชนชั้นของคนในสังคมเสียใหม่ ให้เป็น ชนชั้นที่วัดด้วยความดีงาม โดยผู้ที่มีประวัติคุณความดีมากควรถูกยกให้เป็นชนชั้นสูงของสังคม และผู้ที่มีทั้งความดี ความเก่ง ความกล้า ควรได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำด้านต่าง ๆ ในสังคม

บล็อกเชนยังช่วยลดการทุจริต อันเนื่องจากการบิดเบือนข้อมูล ดังตัวอย่าง โรงเรียน Holberson ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการเกี่ยวกับการออกใบประกาศนียบัตรให้กับนักเรียน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจได้ว่า นักเรียนแต่ละคนได้ผ่านการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างแท้จริง ช่วยให้การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารยืนยันต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายโดยไม่ต้องมีการลงนามรับรองในเอกสารใด ๆ ทั้งยังทำให้การปลอมแปลงวุฒิการศึกษาเป็นไปได้ยาก

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การใช้บล็อกเชนของบริษัท GovCoin Systems จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยรัฐบาล ในการกระจายความช่วยเหลือและสวัสดิการทางสังคมสู่ประชาชน ทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิผล และป้องกันข้อมูลให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้การจัดสรรสวัสดิการมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และลดการทุจริตคอร์รัปชันในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

สุดท้าย ประเทศไทยควรนำบล็อกเชนมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสังคมแห่งความดี เร่งทำให้เกิดขึ้นจริงและอาจทดลองใช้กับกลุ่มผู้นำที่มีอำนาจทางการเมือง เพื่อจะได้ทั้งคนดี เก่ง กล้ามาปกครองประเทศ

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.