บทเรียนจากเกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี – เคล็ดลับเพื่อให้มีอายุยืนยาว 123 ปี อย่างมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 2 – 7 กันยายน 2562 ผมและนักศึกษาจากหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติรุ่นที่ 8 สถาบันการสร้างชาติ (NBI) ได้ไปดูงานที่ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี โดยบทเรียนที่ตั้งใจไปเรียนรู้จากซาร์ดิเนีย คือ ทำอย่างไรให้คนอายุยืน 123 ปี อย่างมีคุณภาพ ?

ซาร์ดิเนีย เป็น 1 ใน 20 แคว้น (region) ของอิตาลีและเป็น 1 ใน 5 แคว้นปกครองตนเองของประเทศอิตาลี เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรองจากเกาะซิซิลี ยังเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงจากการที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่โซนสีฟ้า (Blue Zone) แห่งแรกของโลกมีคนอายุเกิน 100 ปี จำนวนหนาแน่นมากที่สุดในโลก

แดน บุทเนอร์ (Dan Buettner) นักสำรวจ นักข่าวและช่างภาพให้กับหนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟฟี (National Geography) รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือ “The Blue Zones Solution: Eating and Living Like the World’s Healthiest People.” ได้ใช้เวลากว่า 10 ปี สำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีคนอายุเกิน 100 ปี หรือมีชีวิตยืนยาวกว่าปรกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอาศัยอยู่ โดยตั้งชื่อพื้นที่เหล่านี้ตามข้อเสนอของ Dr.Gianni Pes แห่งมหาวิทยาลัย Sassari ว่า โซนสีฟ้า (Blue Zones)

คนที่อยู่ในโซนสีฟ้านี้ มักไม่เจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคอ้วน ที่ทำให้อายุสั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ ไม่ต้องกินยามากนัก หากคนเหล่านี้เสียชีวิตก็จะไม่เจ็บป่วยนาน ถึงแม้อายุมากแล้ว แต่ยังคงมีชีวิตชีวาสามารถอ่านหนังสือโดยไม่ต้องใช้แว่นสายตา ทำสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำได้

พื้นที่ในโซนสีฟ้า นอกจากพื้นที่แถบบาร์บาเกียแห่งซาร์ดิเนียแล้ว ยังมีอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) ย่านอิคาเรียบนเกาะอีเจียน ประเทศกรีซ เป็นชุมชนที่มีอัตราการเป็นโรคสมองเสื่อมต่ำที่สุดและมีอัตราเสียชีวิตในวัยกลางคนต่ำที่สุด (2) แหลมนิโคยาประเทศคอสตาริกา มีอัตราการเสียชีวิตวัยกลางคนต่ำที่สุด มีจำนวนคนอายุเกิน 100 ปีมากเป็นที่สองรองจากบาร์บาเกีย (3) โลมา ลินดาชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนตีส เป็นนิกายที่กินแต่พืชผักในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอายุเฉลี่ยมากกว่าชาวอเมริกันทั่วไป 10 ปี  (4) เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น มีผู้หญิงอายุยืนมากที่สุดในโลก

ความยืนยาวของชีวิตเป็นผลมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ (1) ยีนส์ และ (2) รูปแบบการดำเนินชีวิต แม้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนไม่ยอมรับเรื่องยีนส์ เพราะมีงานวิจัยสนับสนุนค่อนข้างน้อยแต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้มีอายุยืนมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผสมผสานกัน ซึ่งผมขอสรุปบทเรียนจากซาร์ดิเนีย ดังนี้

  • ยีนส์ดี อันเกิดจากการคัดกรองตามธรรมชาติ เพราะคนในพื้นที่นี้เคยผ่านโรคระบาด เช่น โรคมาลาเรียมาก่อนทำให้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง อีกทั้งยังไม่ได้ติดต่อกับคนนอกเกาะมากนัก
  • สุขภาพกายดี เพราะออกกำลังเสมอทำกิจกรรมเคลื่อนไหวตลอดเวลา เป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เช่น เดินเลี้ยงแกะระยะทาง 5 ไมล์ต่อวัน เดินไปบ้านเพื่อน เดินขึ้น-ลงไปสวน นวดขนมปัง
  • สภาพจิตใจดี มองโลกแง่บวก ใจสงบ ไม่เครียด มีกิจกรรมรวมตัวกันที่ถนนตอนกลางวัน เพื่อพูดคุยและหัวเราะกับเพื่อน ๆ
  • ชุมชนดี ผู้สูงอายุมีเครือข่ายสังคมในชุมชน มีการจัดระเบียบและมีส่วนในกิจกรรมท้องถิ่นโดยมีสโลแกนว่า “พบกันหลังอาหารกลางวัน เพื่อพูดคุย เล่นเกมไพ่สังสรรค์”
  • อาหารดี โดยเน้นรับประทานผัก ถั่ว ธัญพืช เป็นหลักมากกว่าเนื้อสัตว์ แต่อาจจะรับประทานเนื้อปลาบ้าง นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันมะกอก ชีสนมแกะแบบดั้งเดิม รวมถึงดื่มไวน์ในปริมาณที่เหมาะสม (ชาย 2 แก้ว/วัน หญิง 1 แก้ว/วัน)
  • น้ำดี น้ำสะอาดและดื่มน้ำมากเพียงพอ
  • อากาศดี เนื่องจากเป็นเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้ชิดกับภูเขาและธรรมชาติ
  • ชีวิตดี กล่าวคือ เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มีอุดมการณ์ มีความหมาย ผู้สูงอายุที่ซาร์ดิเนียไม่มองว่าตนเป็นภาระ แต่เป็นผู้ส่งต่อค่านิยม ความรู้ “เป็นทรัพยากรสำคัญชุมชน” รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเข้มแข็งทำให้มั่นใจได้ว่า สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะได้รับการดูแลและได้รับการช่วยเหลือเมื่อยามแก่ชราลง

จากบทเรียนข้างต้น ผมมีความปรารถนาให้คนไทยอายุยืนยาวถึง 123 ปีอย่างมีคุณภาพสามารถทำงานได้จนวันสุดท้ายของชีวิต ผมจึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับบริบทประเทศไทย ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ผู้สูงอายุไม่ควรเกษียณ ต้องมีกิจกรรมหรืองานที่ต้องทำทุกวันอย่างเป็นประจำ ตื่นตัว มีไฟและกระตือรือร้นกับงานที่เหมาะกับช่วงอายุ

ประการที่ 2 ออกกำลังกายอย่างมีผลลัพธ์ กล่าวคือ นอกจากจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว การออกกำลังกายไม่ทำให้สูญเวลาในการทำดีและสร้างประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ เช่น ปั่นจักรยานสะสมพลังงานเป็นไฟฟ้านำไปขายได้ การส่งเสริมให้คนเดินไปเรียนหรือทำงาน การนำจำนวนแคลอรี่ที่ลดลงไปใช้ลดหย่อนภาษีพิเศษ

ประการที่ 3 ส่งเสริมให้คนไทยสังกัดชุมชนที่มีอุดมการณ์ที่ดี รักใคร่ผูกพันกัน ดังที่โอกินาว่ามีแนวคิดจัดกลุ่มเพื่อน 5 คน ที่สัญญาจะดูแลกันตลอดไป

ประการที่ 4 ควบคุมมาตรฐานด้านอาหาร โดยภาครัฐควรตั้งงบวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหาร รวบรวมทุกศาสตร์การรับประทานอาหารเท่าที่มีและจัดทำเป็นระบบ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจนว่าอะไรดี ไม่ดีอย่างไร ประเด็นใดที่ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดีต่อสุขภาพ ตลอดจนมีการควบคุมสารตกค้างในอาหาร ทั้งพืช และเนื้อสัตว์ให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ประการที่ 5 ทำอากาศให้ดี โดยลดการสร้างมลภาวะและกำจัดมลภาวะตกค้างอยู่ให้หมด เช่น ปลูกต้นไม้ในเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณภาพ ราคาถูกจนทุกคนสามารถซื้อได้

ผมคาดหวังว่าจะเห็นประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุยืนถึง 123 ปี อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาและให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของคนในประเทศมากขึ้น เพื่อประเทศไทยจะมีผู้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีให้กับประเทศ เป็นทั้งแบบอย่างชีวิต เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตที่ดีด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.