บทเรียนการสร้างชาติจอร์เจีย : มือปราบคอร์รัปชันที่เก่งที่สุดในโลก

วันที่ 27 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม 2562 กลุ่มนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ รุ่นที่ 7 จากสถาบันการสร้างชาติได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศจอร์เจีย ประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า “ประเทศสองทวีป”

ประเทศจอร์เจียตั้งอยู่เกือบสุดขอบของทวีปเอเชีย และอยู่ใกล้ทวีปยุโรป จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรมของสองทวีปไว้ด้วยกัน จอร์เจียถูกจัดให้เป็นอันดับ 3 ของโลกในเรื่องความเก่าแก่ของอารยธรรมโบราณ เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี และภาษาจอร์เจียเป็นหนึ่งในภาษาที่เก่าแก่มากที่สุดภาษาหนึ่งของโลก ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

จอร์เจียเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง มีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่าไทย (ประมาณ 4 พันเหรียญสหรัฐฯ) และการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติตั้งแต่ประกาศเอกราช ในปี 1991 ซึ่งเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 1995 ส่งผลให้มีการเริ่มปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังในช่วงปี 2003

อย่างไรก็ดี จอร์เจียมีหนึ่งเรื่องที่สามารถเป็นต้นแบบกับไทยและประเทศทั่วโลกได้ นั่นคือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน คือ ในปี 2010 องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า จอร์เจียเป็นมือปราบคอร์รัปชันที่เก่งที่สุดในโลก หรือ “The best corruption-buster in the world” และปี 2012 ธนาคารโลกยกย่องให้จอร์เจียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น “Unique Success” ในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน

ความสำเร็จในประเด็นดังกล่าวจึงสามารถถอดเป็นบทเรียน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจังและเด็ดขาด

ก่อนหน้าปี 2003 หน่วยงานภาครัฐของจอร์เจียเกือบทั้งหมดถูกรายงานว่า มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะในแทบทุกกระบวนการ แต่ในปี 2013 การสำรวจของ Global Corruption Survey พบว่า มีประชาชนประมาณร้อยละ 4 เท่านั้นที่พบว่ามีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ

จุดเปลี่ยนสำคัญของจอร์เจีย คือ การปฏิวัติกุหลาบ (Rose Revolution) ในปี 2003 โดยมีสาเหตุมาจากการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก ซึ่งผลลัพธ์คือ ประธานาธิบดีลาออก และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายมิเคอิล ซาคาชวีลี  (Mikhail Saakashvili) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และผู้นำการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยได้รับคะแนนเสียงสูงถึงร้อยละ 96.3 และเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาได้ประกาศว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปรับปรุงระบบเงินเดือนและเงินบำนาญข้าราชการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สิ่งที่รัฐบาลจอร์เจียทำ คือ

(1) ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเอาจริงกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

รัฐบาลจัดทำบันทึกการจับกุมข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่าง ๆ และนำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

(2) ไล่ตำรวจทุจริตออก และแทนที่ด้วยตำรวจน้ำดี

รัฐบาลจอร์เจียไล่ตำรวจถนน (Road police) ออกถึง 4 หมื่นนาย เพราะเป็นกลุ่มตำรวจที่มีการทุจริตมากที่สุด และแทนที่ด้วยตำรวจลาดตะเวน (Patrol police) จำนวน 1.5 หมื่นนาย ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี

หลังการปฏิรูปตำรวจ ส่งผลให้ประชาชนไว้ใจและสนับสนุนตำรวจอย่างเต็มที่ เพราะตำรวจมีผลงานที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยมีการลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้จอร์เจียกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัยมากที่สุด อันดับ 5 จาก 125 ประเทศทั่วโลก (ดัชนีอาชญากรรมโดย Numbeo ปี 2018)

(3) ลดคนและลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็น และหันไปให้บริการออนไลน์

รัฐบาลจอร์เจียลดจำนวนข้าราชการลงอย่างมาก โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 35 ในระดับกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตร ลดข้าราชการจาก 5,800 คนเหลือ 350 คน ขณะที่ข้าราชการในหน่วยงานระดับล่างลงมา ถูกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 65 และหน่วยงาน โครงการ และตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่เกิดประโยชน์ถูกยกเลิกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่การให้บริการภาครัฐออนไลน์ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก เช่น ประชาชนสามารถทำบัตรประชาชนและพาสปอร์ตผ่านระบบออนไลน์ได้ และได้รับบัตรในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ เป็นต้น

(4) ดึงดูดคนเก่งมาทำงานภาครัฐโดยให้เงินเดือนสูง

เมื่อปรับลดหน่วยงานและจำนวนข้าราชการลง ทำให้ภาครัฐมีงบประมาณมากขึ้นในการจ้างคนที่มีความสามารถ ขึ้นเงินเดือนให้ตำแหน่งที่สำคัญในภาครัฐเกือบ 10 เท่า และในบางกรณีสูงถึง 20 เท่า ขึ้นอยู่ความรับผิดชอบและรายละเอียดของงาน เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถสูงให้มาทำงานภาครัฐ และลดแรงจูงใจที่คนเหล่านี้จะทุจริตให้น้อยลง

ประการที่ 2 ใช้หลัก “ตรีกิจ” ของผมในการบริหารประเทศ

รัฐบาลจอร์เจียไม่ได้ผูกขาดอำนาจในการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และเสี่ยงต่อการทุจริต แต่เชิญนักวิชาการจอร์เจียที่อยู่ต่างประเทศให้กลับมาประเทศ เพื่อช่วยในการปฏิรูปและกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิผลในการพัฒนาจอร์เจีย

นอกจากนี้ในปี 2011 รัฐบาลจอร์เจีย ยังเข้าร่วม Open Government Partnership (OGP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มถาวร ที่มีประธานร่วมเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและภาคสังคม (วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี) และนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากภาครัฐบาล ประชาสังคม ธุรกิจ วิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ มาทำงานร่วมกัน

OGP ทำหน้าที่ออกแบบแผนของประเทศ และนำแผนไปปฏิบัติ โดยจัดให้มีฟอรั่มอภิปรายและจัดการกระบวนการ OGP ของจอร์เจีย และการปรึกษาสาธารณะ (public consultations) ในระดับชาติ เพื่อป้อนความเห็นของภาคประชาสังคมเข้าสู่แผนชาติ

OGP พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของฟอรั่มทางออนไลน์ และเพิ่มพูนสมาชิกเพื่อให้ฟอรั่มเป็นตัวแทนของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยองค์กรภาคประชาชนต้องสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของฟอรั่ม โดยเขียนใบสมัคร อธิบายสิ่งที่ทำ และแรงจูงใจที่มาเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ OGP ใช้เงินจากการบริจาค เพื่อป้องกันการครอบงำโดยรัฐบาล และมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ มี 24 ประเด็นที่กำลังร่วมมือกันในปัจจุบัน และมี 41 ประเด็นที่ผ่านการอนุมัติแล้ว

มาตรการในการปฏิรูปภาครัฐของจอร์เจียบางส่วนยังมาจากการต่อยอดมาตรการที่ประสบความสำเร็จในการปราบคอร์รัปชันของประเทศอื่น เช่น วิธีการจัดการมาเฟียของอิตาลี หรือวิธีการฝึกอบรมตำรวจของเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด เนื่องจากไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มจากแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best practice)

เช่นเดียวกัน ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพียงแต่ต้องลงมือจัดการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง หากรัฐบาลทำจริง จัดการจริง ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดการคอร์รัปชันได้อย่างแน่นอน

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.