นิยามความรักเพื่อผู้อื่น : กรณีการจัดการศึกษาฮาร์วาร์ด

“หัวใจที่เหงาที่สุด คือ หัวใจที่ไม่มีความรักให้กับใครนอกจากตัวเอง”

และ

“รักแท้…ผูกด้วย  ‘ข้อแม้’ ไม่ได้”

(คำคมอย่างหลัง ผมนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ คมความคิด ดร. แดน : แก่นแกนความสำเร็จ)

เดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงเทศกาลแห่งความรักที่ผู้คนทั่วทั้งโลกต่างให้ความสนใจและค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำนี้ บ้างนิยามความรักว่าหมายถึง การให้ บ้างนิยามว่าคือ การเสียสละ บ้างมองว่าความรักเป็นการเห็นคุณค่าคนหรือสิ่งที่ตนเองรัก

ข้อคิดคำคมของผมดังกล่าวข้างต้นนี้สะท้อนอุดมการณ์ส่วนตัวที่ยึดถือและความหมายของความรักที่ตกผลึกคิดว่าครอบคลุมมากที่สุด คือ การปลดปล่อยตนเองจากความเห็นแก่ตัวสู่การเห็นแก่ผู้อื่น เป็นความรักที่บริสุทธิ์จริงใจ ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง แสดงออกถึงความปรารถนาดี และยินดีให้โดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ความรักลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มิเฉพาะเพียงกับวัยหนุ่มสาวเท่านั้น

ตัวอย่างรูปธรรมของความรักตามความหมายดังกล่าวนี้ เช่น ความรักที่เรามีต่อคนตกทุกข์ได้ยาก อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีความมุ่งมาดปรารถนาทำสิ่งดีที่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากเหล่านั้น แม้รู้แน่แก่ใจว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถให้สิ่งใดตอบแทน แต่เรายังยินดีและเต็มใจให้ความช่วยเหลือด้วยจิตใจที่เสียสละ ความรักเช่นนี้เป็นการยกระดับจิตใจขั้นสูงที่มนุษย์พึงมีต่อกันและกัน

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนให้เห็นลักษณะของความรักตามอุดมการณ์และนิยามดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ผ่านกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมทำดีแก่ประเทศชาติสังคมและชุมชนท้องถิ่นตามความถนัดและความสนใจ มีส่วนบ่มเพาะจิตใจที่เห็นแก่ผู้อื่นและส่วนรวม ยินดีนำความรู้ความสามารถและทรัพยากรของตนเองมาช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติสังคมและกลุ่มคนที่มีความต้องการ เช่น การมีส่วนร่วมบริจาคอาหารให้แก่ผู้ที่มีความต้องการ การสนับสนุนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำดีกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานโดยนักศึกษาฮาร์วาร์ดชื่อว่า Phillips Brooks House Association

ตัวอย่างรูปธรรมที่น่าประทับใจดังกล่าวนี้ เช่น การริเริ่มกิจกรรมอาสาสมัครภายใต้องค์กร Phillips Brooks House Association ที่ชื่อว่า เพื่อนคู่หูผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (PBHA’s Harvard College Alzheimer’s Buddies (HCAB)) อันเป็นกิจกรรมสนองตอบต่อการอยู่อย่างโดดเดี่ยวและการถอยห่างจากสังคมของกลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะกลางถึงระยะสุดท้าย (intermediate-to-late-stages) โดยกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมจะมีส่วนช่วยสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับเพื่อนคู่หูที่เป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระหว่างการเยี่ยมเยียนแบบตัวต่อตัวทุกสัปดาห์ รวมถึงการมีส่วนช่วยพัฒนาปรับปรุงชีวิตที่มีความจำกัดของผู้ป่วยเหล่านี้ให้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

กิจกรรมเพื่อนคู่หูผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่จะได้รับมิตรภาพและการปฏิบัติที่ดีจากอาสาสมัครที่มาพร้อมความกระตือรือร้น รอยยิ้มแห่งความรัก การสัมผัสที่เอาใจใส่ และความต้องการที่จะรู้จักเพื่อนคู่หูที่เป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อย่างแท้จริง ขณะที่อาสาสมัครเองจะมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้วยเช่นเดียวกัน[1]

ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อนคู่หูผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ตามที่กล่าวมานี้สะท้อนความหมายรูปธรรมของความรักแท้จริง อันเป็นลักษณะของความรักที่จะมีส่วนช่วยจรรโลงสังคมและโลกนี้ให้ดีขึ้น เพราะหากความรักคือ การแลกเปลี่ยน เรียกร้อง หรือต้องการกลับคืน เป็นความรักที่เกิดขึ้นและผูกพันกันอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ เช่น ความสุขทางกายหรือทางใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรักที่เกิดขึ้นนั้นจะจำกัด ไม่มีความยั่งยืน และบนโลกนี้จะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่จะไม่มีวันได้รับความรักจากใครเลย เช่น คนพิการ คนยากจนขัดสน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่นำเสนอเอาไว้ในหนังสือ

คมความคิด ดร. แดน : แก่นแกนความสำเร็จ” ที่ว่า

“รักคนที่รักเรา คือ อารยชน

รักคนที่ไม่รักเรา คือ อารยมนุษย์

รักคนที่เกลียดเรา คือ อารยบุคคล”

หากเราทุกคนพัฒนาตนเองทำได้ตามนี้ เป็น อารยชน อารยมนุษย์ และอารยบุคคล[2] บนโลกนี้จะไม่มีใครสักคนที่ไม่ได้รับความรักจากใครเลย ความรักนั้นมีพลังยิ่งใหญ่หากเราทุกคนมีความรักแท้จริงอยู่ในหัวใจ โลกนี้จะน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม ขอให้เดือนแห่งความรักปีนี้จะเป็นเดือนแห่งการเพาะชำความรักแท้จริงในจิตใจของทุกคน

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://pbha.org/programs/alzheimers-buddies/

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ ชาวอารยะ : ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 25 วันศุกร์ 2 – พฤหัสบดี 8 มีนาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.