นวัตกรรมยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวเพื่อการสร้างชาติ

ธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากในโลกเป็นธุรกิจครอบครัว ธุรกิจในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ร้อยละ 90 เป็นธุรกิจครอบครัว ธุรกิจในเอเชียร้อยละ 80 เติบโตจากธุรกิจครอบครัว และกว่าร้อยละ 40 ของธุรกิจขนาดใหญ่ Top 500 ในสหรัฐอเมริกา คือ ธุรกิจครอบครัว ตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว เช่น วอล์มาร์ท ซัมซุง อีเกีย โตโยต้า ล็อตเต้ เลโก้ เป็นต้น

ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศ โดยมีจำนวนร้อยละ 70 – 95 ขององค์กรธุรกิจในประเทศต่างๆ ในโลก มีการจ้างงานร้อยละ 50 – 80 ของการจ้างงานภาคเอกชนในประเทศส่วนใหญ่ และสร้างผลผลิตกว่าร้อยละ 60 – 90 ของ GDP ภาคเอกชน ของประเทศต่างๆ ในโลก รวมทั้ง Start-Ups ทั่วโลกถึงร้อยละ 85 เริ่มต้นด้วยเงินของครอบครัว

เช่นเดียวกับประเทศไทย วิสาหกิจกว่าร้อยละ 80 จัดเป็นธุรกิจครอบครัว กระจายตัวไปในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่ง 21 บริษัทในกลุ่ม SET 50 เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าตลาดรวมกว่าร้อยละ 33 โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจครอบครัวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การส่งเสริมธุรกิจทั่วโลกและในประเทศไทยกลับไม่ได้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของธุรกิจครอบครัว ในบทความตอนนี้ ผมจึงขอนำเสนอ 3 นวัตกรรมยุทธศาสตร์แรกในการสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวเพื่อการสร้างชาติ

1. การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายธุรกิจครอบครัว

การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายธุรกิจครอบครัวมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นตัวแทนนำเสนอและผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจครอบครัว รณรงค์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจครอบครัว รวมถึงสร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้และประสบการณ์ของผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจครอบครัว

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีเครือข่ายของผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว เช่น ในยุโรปมี European Family Businesses (EFB) เครือข่ายระดับนานาชาติ คือ Family Business Network International อันประกอบด้วยองค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกในหลายประเทศชั้นนำ เช่น FBN World FBN Colombia FBN Japan FVIDK/FBN Denmark เป็นต้น

2. การวิจัยและจัดหลักสูตรการบริหารธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยทำการสอนและทำวิจัยการบริหารธุรกิจทั่วไป แต่หลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของและบริหารธุรกิจครอบครัวยังมีจำกัด มีบางมหาวิทยาลัย/สถาบันที่เปิดหลักสูตรธุรกิจครอบครัวอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการอบรมระยะสั้น ขณะที่การวิจัยด้านการบริหารธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยยังมีน้อยมาก

ดังนั้น ผมเห็นว่าเราควรส่งเสริมการจัดหลักสูตรระยะยาวเจาะจงสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยมีเนื้อหาที่เจาะจงการบริหารและการประกอบการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจครอบครัว การรับมือกับประเด็นเฉพาะของธุรกิจครอบครัว และการมุ่งเน้นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในบริบทธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ การจัดการศึกษาอาจเป็นทั้งแบบในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เช่น การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและหลักสูตรการบริหารธุรกิจครอบครัวในมหาวิทยาลัย และการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจครอบครัว

รวมไปถึงการส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัวสามารถจัดอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ภายในบริษัท โดยเฉพาะการรวบรวมและพัฒนาสินทรัพย์ของครอบครัว (family assets) เช่น การจัดเก็บข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนสำคัญของธุรกิจ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เป็นเอกสาร รูปถ่าย วิดีทัศน์ รวมถึงความสัมพันธ์กับลูกค้า ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ เพื่อถ่ายทอดให้สมาชิกครอบครัวมีความเข้าใจความซับซ้อนและเฉพาะตัวของธุรกิจครอบครัว

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศจำนวนมากได้มีการจัดหลักสูตรและทำวิจัยเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจครอบครัว เช่น Harvard Business School/Harvard University (USA) มีหลักสูตร Global Family Alliance group, Wharton/University of Pennsylvania (USA) มีศูนย์ Family Enterprises, Kellogg School of Management/Northwestern University (USA), Saïd Business School/University of Oxford (England) Global Family Business Center, IMD (Switzerland) Business Families Institute, Singapore Management University (Singapore) เป็นต้น

3. การพัฒนาระบบสถิติและฐานข้อมูลธุรกิจครอบครัว

ปัจจุบัน ข้อมูลสถิติธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลในมิติธุรกิจครอบครัว สถิติธุรกิจส่วนใหญ่จำแนกข้อมูลตามมิติขนาดของธุรกิจ การจ้างงาน เงินทุน ยอดขาย ภาคการผลิต เนื่องจากนโยบายธุรกิจที่เป็นกระแสหลักของโลก คือ การส่งเสริม SMEs

การขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธุรกิจครอบครัว ทำให้ขาดความเข้าใจความสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม ขาดความเข้าใจโครงสร้างภาพรวมของธุรกิจครอบครัว ขาดความเข้าใจลักษณะเฉพาะและปัญหาของธุรกิจครอบครัวไม่ทราบผลกระทบของนโยบายและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีต่อธุรกิจครอบครัว

ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสีย ไม่สามารถกำหนดนโยบายที่ดี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวและความมั่งคั่งธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศ และนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดระบบการเก็บข้อมูลธุรกิจครอบครัว

ตัวอย่างข้อมูลที่ควรมีการจัดเก็บเพื่อประโยชน์ในการวิจัยและการกำหนดนโยบายส่งเสริมธุรกิจครอบครัว เช่น ธุรกิจครอบครัวมีจำนวนเท่าไร โครงสร้างธุรกิจครอบครัวจำแนกตามขนาดเป็นอย่างไร ธุรกิจครอบครัวมีอายุเท่าไร และอยู่ภายใต้การบริหารของคนรุ่นใด แหล่งเงินทุนของธุรกิจครอบครัว ผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจครอบครัวเป็นคนในหรือนอกครอบครัว ระบบการบริหารและการกำกับดูแลในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมธุรกิจให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจครอบครัว จะต้องไม่กระทบต่อธุรกิจรูปแบบอื่นด้วย ซึ่งจะทำให้เราสามารถพัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตเป็นธุรกิจระดับโลกได้มากขึ้น ทั้งนี้ อีก 4 นวัตกรรมยุทธศาสตร์จะนำเสนอในบทความต่อไป

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ http://bit.ly/2r45JtK

Leave a Reply

Your email address will not be published.