นวัตกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทเพื่อการสร้างชาติ (Innovative Rural Development Strategies for Nation-Building)

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2018 ผมในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติ ได้กล่าวปาฐกถาในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ ครั้งที่ 2 (ICNB 2018) ในหัวข้อเรื่อง “นวัตกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทเพื่อการสร้างชาติ”

ผมได้อธิบายถึงความหมายของการพัฒนาชนบทว่า ไม่ได้หมายความเพียง การทำให้ชนบทกลายเป็นเมืองเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่า ต้องดำรงสภาพความเป็นชนบทเอาไว้เสมอไป แต่หมายรวมความทั้งการพัฒนาให้ชนบทเจริญขึ้น และการทำให้กลายเป็นเมือง โดยมี 3 เส้นทางการพัฒนา คือ พัฒนาชนบทให้เป็นชนบทที่พัฒนาแล้ว พัฒนาชนบทเป็นเมืองใหม่ และเชื่อมโยงชนบทเข้ากับเมืองที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี การพัฒนาชนบทมีข้อจำกัด หรือความขัดแย้งของเป้าหมายหรือทางเลือกในการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1) การขยายตัวมักสวนทางกับความเท่าเทียม 2) แนวทางความสำเร็จในบางชุมชน เมื่อนำไปดำเนินการทั้งประเทศอาจล้มเหลว 3) ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ และ 4) แนวทางการพัฒนาที่รัฐนำ ชุมชนนำ หรือตลาดนำ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน

ผมได้เสนอ 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทเพื่อนำประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ดังต่อไปนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การใช้ทรัพยากรในชนบทให้เต็มศักยภาพแต่ยั่งยืน เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ โดยยังคงอนุรักษ์ทรัพยากร แทนการห้ามใช้หรือเข้าถึงโดยเด็ดขาด การทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม (Agritourism) และวนเกษตรกรรม (Agroforestry) ซึ่งเป็นการเพิ่มหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เข้าไปในภาคเกษตร การจัดตั้งตลาดซื้อขายสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำ ป่า ที่ดิน) การแปลงไม้ยืนต้นเป็นทุน (ธนาคารต้นไม้) การแปลงทุนทางสังคมเป็นทุน (การให้กู้โดยค้ำประกันกลุ่ม) การแปลงความดีเป็นทุน (ธนาคารความดี) เป็นต้น
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการลงทุนและสะสมทุนทุกประเภท เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท โดยอาจจัดเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ของบริการสาธารณูปโภคทั่วประเทศ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท โดยระดมเงินทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เป็นต้น

การส่งเสริมภาคกิจอื่นๆ ลงทุนในชนบท เช่น การออกพันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อลงทุนทางสังคมในชนบทระยะยาว แทนการทำ CSR แบบเฉพาะกิจ การจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในชนบท การส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในชนบท เป็นต้น

  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมออกจากชนบทเช่น การจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลความต้องการแรงงาน การส่งออกแรงงานป้อนตลาดโลก การออกแบบระบบให้เกิดการเคลื่อนย้ายและหมุนเวียนบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรในภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดการกระจายตัวของบุคลากรที่มีคุณภาพไปยังชนบท ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง เป็นต้น

ตัวอย่าง การอุดหนุนค่าเดินทางของแรงงานเกษตร ในเขตรังปุระ ของบังกลาเทศ เนื่องจากแรงงานไม่มีงานทำในช่วงรอการเกี่ยวข้าว แต่คนยากจนขาดค่าเดินทางเข้าเมืองเพื่อหางานทำ Mushfiq Mobarak จากมหาวิทยาลัยเยล ได้ทำการทดลองให้เงินกับครอบครัวยากจนที่มีคนยินดีย้ายมาทำงานในเมือง พบว่า การให้เงินอุดหนุนทำให้การเข้าเมืองมาหางานทำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ของครัวเรือนในหมู่บ้านที่ไม่ได้รับเงิน เป็นร้อยละ 74 ในหมู่บ้านที่ได้เงินเกือบทุกครัวเรือน ซึ่งผลกระทบ คือ คนที่ไปทำงานในเมืองมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเงินกลับบ้านได้เพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานในชนบทลดลง จนค่าจ้างในชนบทสูงขึ้น

  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจของชนบท โดยเปลี่ยนชนบทจากพื้นที่สำหรับการผลิต (production space) เป็นพื้นที่สำหรับการบริโภค (consumption space) กล่าวคือ การทำให้ลักษณะกิจกรรมของคนเมือง (urban actions) เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท ไม่ว่าจะเป็น การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย การส่งเสริมการท่องเที่ยว กิจกรรมการฟื้นฟูธรรมชาติ และการพัฒนาชนบทให้เป็นชุมชนของคนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในยามเกษียณอายุ เป็นต้น
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น การจัดโซนนิ่งการผลิต โดยแยกโซนที่ดินสำหรับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ การแยกโซนการผลิต การพักอาศัย และการอนุรักษ์ การแยกโซนเกษตรอินทรีย์ออกจากเกษตรเคมี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดโซนการผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของพื้นที่ และเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตของทั้งประเทศ รวมทั้งป้องกันปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร

ชนบทควรได้รับการส่งเสริมให้มีการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น และส่งเสริมการผลิตและการตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche marketing) ที่เน้นตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ โดยแต่ละท้องถิ่นควรได้รับการสนับสนุนให้สร้างความแตกต่าง และสร้างความแปลกใหม่ในทุกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ของท้องถิ่น

  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การใช้เทคโนโลยีพัฒนาชุมชน โดยต้องทำควบคู่กับ การย้ายแรงงานออกไปยังภาคการผลิตอื่น เพื่อลดผลกระทบต่อแรงงานในชนบท เช่น การใช้เครื่องจักรทำการเกษตร (farm mechanization) โดยการรวมพื้นที่การเพาะปลูกให้กลายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ หรือการที่เกษตรกรรายย่อยร่วมมือกันบริหารจัดการฟาร์ม เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่า และเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือเกิดการประหยัดต่อขนาด

การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเกษตรแม่นยำสูง (precision agriculture) ไม่ว่าจะเป็นนาโนเทคโนโลยี ไบโอเซ็นเซอร์ หรือระบบน้ำหยด รวมทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาชนบทผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการระดมทุน การควบคุมคุณภาพสินค้า การศึกษา การดูแลด้านสุขภาพ เป็นต้น

  • ยุทธศาสตร์ที่ 7 การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาชนบท และความร่วมมือระหว่างชนบท และระหว่างชนบทกับเมือง เช่น การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมจำนวนมากตามแนวคิด New Social Contract – Big civil society, small government, and small business” การส่งเสริมการท่องเที่ยวและจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมระหว่างท้องถิ่น การพัฒนาแถบเศรษฐกิจ (economic belt) เชื่อมเส้นทางการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท การเชื่อมต่อภาคการผลิตในชนบทเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ value chain ของเมือง เป็นต้น

แม้พื้นที่ชนบททั่วโลกยังพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับการพัฒนาเมือง แต่ความพยายามในการพัฒนาชนบทยังคงต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมแพ้ อย่างไรก็ดี หากเราต้องยกระดับความเป็นอยู่ของคนชนบทให้พ้นความยากจน และมีส่วนทำให้ประเทศกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราต้องทำงานหนักขึ้น (work hard) ทำงานให้เร็วขึ้น (work fast) และทำงานให้ฉลาดขึ้น (work smart)

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.