ทำอย่างไรถ้าเรากำลัง ‘พายเรือให้โจรนั่ง’?

บริษัทของคุณมี “โจร” ทำงานอยู่ด้วยหรือไม่?

คนเหล่านี้อาจจะทำงานเก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีความกระตือรือร้น หนักเอาเบาสู้ พร้อมช่วยเหลือองค์กรอยู่เสมอ และอยู่มานานจนมีตำแหน่งสูง คุณอาจจะไม่รู้เลยว่า เบื้องหลังการทำงานให้องค์กร เขากำลัง “โกง” องค์กร กอบโกยผลประโยชน์มิชอบเข้ากระเป๋าตนเองอยู่

ผู้นำองค์กรหรือเจ้าของบริษัทจำนวนไม่น้อย อาจกำลัง “พายเรือให้โจรนั่ง” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

สำนวน “พายเรือให้โจรนั่ง” หมายถึง การให้ความสนับสนุนคนไม่ดี นิยมนำมาใช้เมื่อบุคคลคนหนึ่งให้การสนับสนุนหรือค้ำจุนคนไม่ดีให้สามารถอยู่ได้อย่างสบาย จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวใหญ่หลายข่าวที่สะท้อน “โจร” ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการธนาคารที่วางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อปล้นเงินนับพันล้านจากสถาบันอุดมศึกษา ข่าวการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยราคาที่สูงเกินจริง หรือเร็วๆ นี้ มีข่าวที่น่าเศร้า เมื่อชายคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะถูกลูกน้องที่ทำงานมานานแอบโกงมาหลายปี จนตัวเองต้องขาดทุน เป็นหนี้เป็นสิน แต่ลูกน้องที่รับค่าจ้างรายวันกลับมีฐานะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด…

พนักงานใหม่ๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่พวก “แก่วัดแก่วา” พวกที่คิดว่า องค์กรขาดพวกตนไม่ได้ รับผิดชอบเรื่องสำคัญ มีความชำนาญในงานจนหาคนใหม่ๆ มาแทนยาก คนเหล่านี้ถ้ามีโอกาสจะแสวงหาประโยชน์เข้าตนเองได้ง่ายโดยที่องค์กรไม่ทันระวังตัว

พนักงานที่อยู่มานานจนไว้วางใจได้มักจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับอำนาจการจัดการ การตัดสินใจที่เพิ่มขึ้นและเป็นอิสระมากขึ้น…ถ้าเขาเป็นคนดี องค์กรย่อมเจริญรุ่งเรือง ตรงกันข้าม ถ้าเกิดความโลภและความเห็น แก่ตัวเข้าครอบงำ เขาจะใช้อำนาจที่ไม่มีใครตรวจสอบนั้น…เพื่อตัวเอง

จากพนักงานประจำกลายเป็น “พนักงานแฝง” ใช้องค์กรเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่สนใจว่าองค์กรจะเสียหายอย่างไร เช่น แอบติดต่อลูกค้าบริษัท รับงานเอง โดยดึงดูดลูกค้าด้วยค่าบริการที่ถูกกว่าใช้บริการของบริษัท บางรายมีธุรกิจส่วนตัวเสริม จึงใช้เวลางานแอบทำงานของตน เป็นต้น

ที่เลวร้ายกว่านั้น อาจเป็น “พนักงานทรยศ” ความเจ็บปวดประการหนึ่งในฐานะผู้บริหารองค์กร คือ ถูกทรยศหักหลัง โดยพนักงานที่ร่วมงานกันมานาน จนเชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ และเชื่อใจ… บริษัทเกิดใหม่หลายแห่ง เจ้าของคือพนักงานที่แยกตัวออกมาเปิดบริษัทเอง และดึง “ลูกค้า” ทั้งหมดของบริษัทที่ตนเคยทำงานอยู่ไปด้วย …ทำให้บริษัทเดิมที่ตนเคยทำงานนั้นแทบล้มทั้งยืน

เรียนรู้จากสำนวนสุภาษิตไทย อาจช่วยแก้ไขไม่ให้เราพายเรือให้โจรนั่ง…

โบราณสุภาษิตไทยได้ให้คำสอนและคำแนะนำดีๆ หลายอย่างในการอยู่ร่วมกับคน และการจัดการคนที่มีพฤติกรรม ไม่เหมาะสม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ หากผู้บริหารเรียนรู้ที่จะนำมาปรับใช้ อาทิ

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง หมายถึง อย่าเชื่อใจผู้ใดง่ายเกินไป การมีลูกน้องที่ไว้ใจได้นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่จำเป็นของเจ้าของบริษัท เพราะแน่นอนว่าเราไม่สามารถทำงานทุกอย่างได้ด้วยตนเอง แต่สุภาษิตนี้ก็เตือนใจได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเราจะมีลูกน้องคนสนิทที่เชื่อใจได้มากเพียงใด แต่เราต้องบอกตัวเองเสมอว่า คนเราอาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจไม่ซื่อสัตย์ อาจเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่องค์กรได้ ต้องเตือนใจตัวเองให้ดี

ตัดไฟแต่ต้นลม หมายถึง ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป ด้วยการวางระบบทุกอย่างให้รัดกุม ทุกขั้นตอน เพื่อมิให้พนักงานมีโอกาสแสวงหาประโยชน์มิชอบได้ เป็นการป้องกันและปิดโอกาสไม่ให้ “ความโลภ” และ “ความเห็นแก่ตัว” ทำงาน เช่น การทำให้งานทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การมอบหมายงานที่ต้องสร้างความรับผิดชอบต่อกันและกัน การโยกย้ายพนักงาน ไม่ให้ยึดติดในตำแหน่งเดิมนานเกินไป เป็นต้น

เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม ด้วยการออกกฎระเบียบ หรือทำสัญญากับพนักงานว่าด้วยเรื่องการประพฤติอย่างซื่อสัตย์ต่อองค์กร โดยกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงหากกระทำผิด เพื่อให้เกิดความกลัว ไม่กล้าทำ เช่น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากความผิดที่ได้กระทำไปด้วย และให้เซ็นชื่อรับทราบ เป็นต้น

ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก หมายถึง อบรมสั่งสอนเด็กให้เด็กประพฤติดีได้ง่ายกว่าสั่งสอนผู้ใหญ่ หากเรารู้ว่ามีพวก แก่วัดแก่วา อยู่มานาน ผู้บริหารต้องวางแผนเพื่อจัดการคนเหล่านี้ โดยอาจตั้งแผนกขึ้นมาใหม่ ฝึกพนักงานใหม่ๆ ที่สามารถควบคุมได้ แล้วค่อยๆ ลดบทบาทของแผนกไม้แก่เดิมๆ และย้ายคนพวกนั้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถหาผลประโยชน์ได้

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หมายถึง คนที่ทำแต่กรรมดี ย่อมจะได้ประสบกับสิ่งดีๆ จำไว้ว่า ถ้าเราจะต้องการจัดการโจรในองค์กร จำเป็นต้องกำจัดโจรในตัวเราให้สิ้นซากเสียก่อน ในฐานะผู้นำองค์กรจะต้องเป็นแบบอย่างให้เห็นว่าเป็นคนดี มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่มีนอกมีใน หากเราเป็นแบบอย่างที่ดี ย่อมเป็นพลังบันดาลใจให้ทุกคนในองค์กรทำตาม

“คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวความจริงนี้ไว้ เราควรช่วยกันทำให้สังคมนี้เป็นที่ยืน ที่อยู่ของคนดี ด้วยการช่วยกันปิดโอกาสและช่องทางต่างๆ ไม่ให้กิเลสแห่งความโลภและความเห็นแก่ตัวฉกฉวยคุณธรรมในใจของเราไป

 

ที่มา:?โพสต์ทูเดย์
Monday, Feb 16, 2015 04:09

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,
http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.pressebox.de/uploads/thumbnail/width/400/height/320/id/656594.jpg