ดร. แดน เสนอ นำเข้านักวิชาการต่างชาติและการคัดสรรอาจารย์ของฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอหลายบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความพิถีพิถันคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์จากทั่วโลกของฮาร์วาร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ ส่งผลเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอันส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน และเสริมสร้างบรรยากาศของมหาวิทยาลัยให้มีส่วนดึงดูดกลุ่มผู้เรียนสติปัญญาเลิศเข้าเรียน 

ความพิถีพิถันคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์ที่มีคุณภาพระดับสูงจากทั่วโลกดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ทำให้ฮาร์วาร์ดยังคงสามารถรักษาคุณภาพการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเป็นระยะเวลายาวนาน ล่าสุดที่ผ่านมา เว็บไซต์ของฮาร์วาร์ดนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัดส่วนคณาจารย์ประจำแบบมีช่วงเวลา โดยทั่วไปหมายถึงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และคณาจารย์ประจำแบบตลอดชีวิตการทำงาน  โดยทั่วไปหมายถึงตำแหน่งรองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ เป็นเวลาย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 – 2016 พบว่า สัดส่วนคณาจารย์ประจำแบบมีช่วงเวลาลดลง ขณะที่คณาจารย์ประจำแบบตลอดชีวิตการทำงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่หากรวมคณาจารย์ทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกันพบตัวเลขว่า มีจำนวนคงที่อยู่ที่ประมาณ 1,400 คน นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงความหลากหลายของคณาจารย์พบมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ประจำแบบตลอดชีวิตการทำงานมีสัดส่วนคณาจารย์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 18 (Office of Faculty Development & Diversity, n.d.)

นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ความหลากหลายของคณาจารย์ฮาร์วาร์ดยังรวมถึงการมีพื้นภูมิหลังที่มาแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นเดียวกัน คณาจารย์บางท่านมีประวัติการศึกษาและเคยผ่านประสบการณ์การสอนจากต่างมหาวิทยาลัยก่อนเข้าร่วมงานกับฮาร์วาร์ด บางท่านเคยผ่านประสบการณ์การทำงานกับองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ความพิถีพิถันคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์ส่งผลทำให้ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งรวมคณาจารย์คุณภาพและหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก เป็นโอกาสให้ผู้เรียนนำความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนี้มาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง โดยที่มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานรองรับคณาจารย์ดังกล่าว อันส่งผลสำคัญต่อการช่วยให้ฮาร์วาร์ดยังคงรักษาคุณภาพการเรียนการสอนและคณาจารย์คุณภาพเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน 

 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังขาดแคลนคณาจารย์ที่มีคุณภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคณาจารย์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนคณาจารย์รุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ การขาดแคลนคณาจารย์คุณภาพเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ อันส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมา

by-wlodek-428549_1280ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิดมานานว่า มหาวิทยาลัยควรนำเข้านักวิชาการต่างชาติที่มีคุณภาพระดับสูงในสาขาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่มีตำแหน่งทางวิชาการระดับสูงจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เป็นที่รับรองหรืออยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพมาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย อาทิ เป็นคณาจารย์ผู้สอนประจำ ร่วมทำวิจัยกับคณาจารย์ไทย เป็นต้น อันจะเป็นผลช่วยเพิ่มจำนวนคณาจารย์คุณภาพเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดความหลากหลาย และสร้างให้เกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นสากล เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความเป็นสากลจากคณาจารย์ต่างชาติ

การนำเข้านักวิชาการต่างชาติที่มีคุณภาพระดับสูงในสาขาที่ขาดแคลนมาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีมาตรฐานความเป็นสากลรองรับ และมีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career path) ชัดเจน ที่สำคัญคือ ต้องมีระบบการคัดกรองอย่างเข้มงวดสนับสนุนให้ได้นักวิชาการต่างชาติที่มีคุณภาพระดับสูงแท้จริงเข้ามาร่วมทำงาน อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อผู้เรียนและมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังคนของประเทศระยะยาวอีกทางหนึ่ง

 

รายการอ้างอิง

Office of Faculty Development & Diversity, Harvard University. (n.d.). Ten Year Trends in

Ladder Faculty: 2006-2016. Retrieved from http://faculty.harvard.edu/files/fdd/files/2015_fdd_faculty_snapshot_ten_year_trends.pdf?m=1456343494

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 34 วันศุกร์ 5 – พฤหัสบดี 11 พฤษภาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ: http://bit.ly/2qPH4ck, http://bit.ly/2q5F5Bv

 

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.