ดราม่ายักษ์ชวนเที่ยวไทย หัวโบราณ หรือ ร่วมสมัย ก็ขาดใครไม่ได้

ประเด็นดราม่ายักษ์ชวนเที่ยวไทย 
ทำให้ผมนึกถึงปาฐกถาของนาย บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีอเมริกา
ซึ่งได้สมมติเหตุการณ์ให้ที่ผู้ฟังปาฐกถาเลือกรัฐบาลมาบริหารประเทศ ระหว่างรัฐบาล “โกงแต่เก่ง” กับรัฐบาล “มือสะอาดแต่ทำงานไม่เป็น” พร้อมแบ่งคนเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อถกเถียงเหตุผล

ในการถกเถียง ทุกคนเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ระหว่างกลุ่มที่ “เน้นผลลัพธ์” คือเลือกรัฐบาลโกงแต่เก่ง และกลุ่มที่ “เน้นวิธีการ” เลือกรัฐบาลมือสะอาดแต่ทำงานไม่เป็น
กลุ่มที่เน้นผลลัพธ์ อาจมองว่า “ความดีกินไม่ได้” ฯลฯ 
ส่วนกลุ่มที่เน้นวิธีการ อาจมองต่างกันว่า “หากได้เสรีภาพและเท่าเทียม ความดีจะกินได้เอง” ฯลฯ

ผมคิดว่ากรณีดราม่ายักษ์ชวนเที่ยวไทยก็มีส่วนคล้ายกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเห็นของประชาชนที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ เหมือนกัน คือ “เน้นผลลัพธ์” กับ “เน้นวิธีการ” 
กลุ่มที่เน้นผลลัพธ์อาจมองว่า 
“พวกนี้หัวโบราณ จะให้วัฒนธรรมขึ้นหิ้งและตายไปพร้อมกับคนตนเองโดยที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักรึยังไง ?” 

ส่วนกลุ่มที่เน้นวิธีการอาจมองว่า 
“ของสูงบางอย่างทำให้ร่วมสมัยมากไม่ได้ ถ้ามันจะตายเพราะไม่มีคนรักษาก็ปล่อยมันตายบนหิ้งดีกว่าดึงลงมาจนคนไม่รู้คุณค่า” 

และยังมีอีกหลากหลายความเห็นจากทั้งนักเลงคีบอร์ดไปจนถึงปัญญาชนของประเทศ 
แม้ในปาฐกถาของ บิล คลินตัน นั้น สุดท้ายจะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน 
แต่ก็ทำให้ผมได้ข้อคิดว่าการทำให้คนที่มีความเห็นแตกต่างกันพอใจในข้อสรุปนั้น ไม่ง่าย !!! 
โดยเฉพาะเมื่อความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น มาจากจุดยืนทางความคิดและการให้คุณค่าที่ต่างกัน

การยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อปรับเนื้อหาและรูปภาพในมิวสิควีดีโอให้เหมาะสม เป็นที่พึงพอใจของอีกฝ่ายหนึ่ง นับเป็นการประนีประนอมที่ดี 
เพราะมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อประเทศเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนลึก ๆ แล้ว แต่ละฝ่ายยังคงมี “ช่องว่าง” ในการยอมรับมุมมองของอีกฝ่ายที่ตรงข้ามกับตน 
ซึ่งมักจะกลายเป็นความขัดแย้ง เกลียดชัง จนอาจนำไปสู่อคติแบบเหมารวม และเกิดความพยายามเอาชนะกัน 
ทำนอง “ฉันถูก เธอผิด” “ฉันทันสมัย เธอโบราณ” “ฉันก้าวหน้า เธอล้าหลัง” ฯลฯ 

หากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคม การอยู่ร่วมกันอย่างสงบคงเป็นไปได้ยาก…

สังคมไทยควรเรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบบให้เกียรติ และยอมรับในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกันมีความเป็นพี่เป็นน้อง และมีเอกภาพในความเป็นพลเมืองของประเทศเดียวกัน 

กว่า 20 ปีมาแล้ว ผมได้เสนอแนวคิด สังคมพหุเอกานิยม  
เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ 
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการงอกงามทางวัฒนธรรม ทุกกลุ่มมีโอกาสใช้ศักยภาพทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ

ผมคิดว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างกันด้วยใจจริง…เปิดใจเรียนรู้ ไม่เก็บกด ปิดกั้น
…คนร่วมสมัยที่จัดทำมิวสิควิดีโอและรักวัฒนธรรมไทยก็จะไม่เข็ดขยาด และจะมีพื้นที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น 
…ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมก็สามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณซึ่งบางอย่างไม่เหมาะสมที่จะบิดเบือนสาระสำคัญได้อย่างหนักแน่น และจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.