ควรฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่

ปัจจุบันเกิดกระแสความกลัวหรือไม่อยากฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากมีข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ไหลบ่าเข้ามา ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง เช่น มีข่าวผู้เสียชีวิตหรือเกิดผลข้างเคียงจากการฉีด ทำให้รู้สึกว่าวัคซีนโควิดไม่ปลอดภัย ประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำ แม้ฉีดแล้วยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้อีกมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคทำให้วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ แม้ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรจำนวนมากแล้วก็ยังมีการติดเชื้อในระดับสูง การได้รับวัคซีนจะส่งผลเสียในระยะยาวหรือไม่ รวมทั้งโรคโควิดมีอัตราการตายหรือความรุนแรงของโรคต่ำ หากป่วยเป็นโรคก็คงไม่เป็นไร สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าควรรับการฉีดวัคซีนหรือไม่

 
ความรุนแรงของโรค
โรคโควิด 19 เป็นโรคที่มีอัตราป่วยตาย (สัดส่วนผู้ป่วยเป็นโรคที่เสียชีวิต) และอัตราการป่วยรุนแรงสูง อัตราป่วยตายเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 2 แม้ว่าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละช่วงเวลา อัตราป่วยตายในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.9 สูงกว่าอัตราป่วยตายของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.01 – 0.02 ถึง 45 – 90 เท่า อัตราป่วยตายยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขด้วย หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ทั้งเรื่องแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรค เตียงในโรงพยาบาล อัตราป่วยตายจะเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราป่วยตายในบางประเทศในช่วงที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก อาจพุ่งสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เช่น อิตาลี สเปน เป็นต้น
 
สำหรับอัตราการป่วยรุนแรงในประเทศไทย พบว่าประมาณร้อยละ 4 เป็นผู้ที่มีอาการหนัก เช่น ปอดอักเสบ และร้อยละ 1 – 2 เป็นผู้ที่มีอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ข้อมูลจาก ศบค. ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2564) อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวแม้จะหายจากโรคแล้วเนื่องจากปอดถูกทำลาย ความรุนแรงของโรคที่กล่าวมาข้างต้นมากเกินกว่าที่จะยอมให้เกิดการแพร่กระจายของโรคจนเกิดภูมิคุ้มกัน (herd immunity) ตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยรุนแรงเป็นจำนวนมาก
ประสิทธิผลของวัคซีน
 
หากพิจารณาตัวเลขประสิทธิผลในแง่การป้องกันการติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรค อาจเห็นว่าวัคซีนยี่ห้อต่างๆ มีประสิทธิผลแตกต่างกัน แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นการวัดประสิทธิผลจากการทดลองในพื้นที่และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง หลังจากที่เริ่มมีการใช้งานจริงดูเหมือนว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนแต่ละชนิดในทางปฏิบัติมีความไม่แน่นอนและแตกต่างจากประสิทธิผลจากการทดลองค่อนข้างมาก ดังนั้นประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อจึงยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
หากพิจารณาวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นยี่ห้อที่จะมีการฉีดในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน พบว่า สามารถป้องกันการป่วยจนเสียชีวิตได้เกือบร้อยละ 100 และป้องกันการป่วยปานกลางจนถึงหนักได้มากกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าของประสิทธิผลของวัคซีน ณ เวลานี้จึงมิได้อยู่ที่ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ แต่อยู่ที่ประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตและการป่วยรุนแรง ซึ่งหมายความว่าหากได้รับวัคซีนแล้ว แม้จะติดเชื้อโควิดก็จะไม่ป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต
 
 
 
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการได้รับวัคซีนจะช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว อาจยังสามารถเป็นพาหะในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องติดตามผลการศึกษาวิจัยกันต่อไป แต่แนวโน้มโอกาสติดเชื้อที่น้อยลงจากการฉีดวัคซีนน่าจะทำให้โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นลดลงตามไปด้วย
 
การพิจารณาประสิทธิผลของวัคซีนยังต้องคำนึงถึงประสิทธิผลในทางปฏิบัติด้วยซึ่งรวมขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การผลิตวัคซีน การเก็บรักษาและขนส่ง และการฉีดให้แก่ผู้รับวัคซีน วัคซีนบางชนิดต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมาก (เช่น วัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส วัคซีนโมเดอร์นา -20 องศาเซลเซียส) ทำให้อาจเกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการเก็บรักษาและจัดส่งได้ง่าย ในขณะที่วัคซีนบางชนิดสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นปกติ (เช่น ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส) ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในกระบวนการน้อยกว่า อย่างไรก็ตามมาตรฐานการเก็บรักษาของวัคซีนแต่ละชนิดไม่น่าจะเกินวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้
ความปลอดภัยของวัคซีน
 
วัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ออกสู่ตลาดเร็วกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ มาก เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องมีการอนุมัติให้ใช้งานอย่างฉุกเฉิน เพราะอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วน อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดในระดับโลก จึงทำให้ประเทศต่างๆ ต่างระดมทรัพยากรมาใช้ในการคิดค้นวัคซีน รวมทั้งมีกลุ่มตัวอย่างที่สามารถนำมาใช้ทดสอบจำนวนมาก ทั้งนี้โดยปกติการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ความล่าช้าของวัคซีนที่เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรในการพัฒนาวัคซีน และขาดกลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองวัคซีนจึงลดลง ดังนั้นวัคซีนโควิดจึงเป็นวัคซีนที่ไม่มีข้อมูลผลกระทบของการใช้ในระยะยาว ถึงกระนั้นไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือยาใดๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศก่อนออกสู่ตลาด แม้อาจต้องตรวจสอบอย่างเร่งรีบ
 
ผลข้างเคียงเล็กน้อยหรือชั่วคราวถือเป็นเรื่องปกติของวัคซีน เนื่องจากภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อตอบสนองตามหน้าที่ของวัคซีน ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีนถือว่ามีโอกาสเกิดต่ำมาก โดยมีผู้มีอาการแพ้รุนแรงน้อยกว่า 2 ต่อ 1 แสนคนและมีภาวะลิ่มเลือด (ในต่างประเทศ) 4 ใน 1 ล้านคนส่วนที่มักได้ข่าวผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิดมากกว่ายาอื่นๆ เป็นเพราะเป็นการฉีดให้กับประชากรจำนวนมาก อีกทั้งอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นเท่านี้มาก่อน ในขณะที่ในแต่ละวันย่อมมีประชากรที่มีปัญหาสุขภาพในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว จึงอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งสองขึ้นพร้อมๆ กันได้ง่าย จนดูเหมือนการฉีดวัคซีนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่การเกิดขึ้นพร้อมกันอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของกันและกันเสมอไป จำเป็นต้องมีการสืบสวนเพื่อหาความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ส่วนการรับวัคซีนจะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร เป็นสิ่งที่จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนในปัจจุบัน ได้แก่
1) ใช้เชื้อโรคที่ตายแล้ว
2) ใช้เชื้อโรคที่อ่อนแรง
3) ใช้ไวรัสชนิดอื่นเพื่อนำส่งโปรตีนของเชื้อโรค
4) ใช้ชิ้นส่วนของเชื้อโรคและ
5) ใช้ชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมของเชื้อโรค
 
วัคซีนซิโนแวคเป็นแบบที่ใช้เชื้อที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าที่มีการใช้มานานส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นแบบที่ใช้ไวรัสชนิดอื่นเพื่อนำส่งโปรตีนของเชื้อโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า แต่เป็นที่รู้จักของมนุษย์มาตั้งแต่ปี 1972 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาใช้เทคโนโลยีแบบที่ใช้ชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมของเชื้อโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ในอดีตที่ผ่านมีการใช้สำหรับวัคซีนรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ณ ข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณว่าวัคซีนโควิดจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวและในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีนใดๆ จะเกิดขึ้นในช่วงไม่เกิน 2 เดือนแรกหลังฉีด
ควรฉีดหรือไม่
 
หากวิเคราะห์ทางเลือกของการตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีเกม พบว่า
หากเลือก “ฉีด”สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ อาจเกิดผลข้างเคียง อาจช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากความจำเป็นในการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อลดลงซึ่งในประเด็นหลังดูจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง
แต่หากเลือก “ไม่ฉีด” สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ หากได้รับเชื้ออาจถึงขั้นเสียชีวิต หรือมีอาการป่วยรุนแรงหรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวแม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม
 
ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีกลยุทธ์เด่น (dominant strategy) เนื่องจาก หากได้รับเชื้อ กลยุทธ์ที่ควรเลือก คือ “ฉีด” เนื่องจาก ผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างมากคือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งมีโอกาสเกิดน้อยมาก (ระดับน้อยกว่า 2 ใน 1 แสน) ในขณะที่หากเลือกที่จะ “ไม่ฉีด” ผลเสียที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่ามากคืออาจถึงขั้นเสียชีวิต มีอาการรุนแรง หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งสิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดมากกว่ากรณีเกิดผลข้างเคียงอย่างมาก (มากกว่าประมาณ 3 พันเท่า)
 
ในกรณีที่ไม่ได้รับเชื้อ แม้กลยุทธ์ที่ควรเลือกคือ ”ไม่ฉีด” เนื่องจากไม่เกิดผลเสียใดๆ แตกต่างจากกรณีเลือก “ฉีด” ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียง แต่โอกาสที่บุคคลใดจะไม่มีโอกาสรับเชื้อเลยต่ำมาก แม้บุคคลที่มิได้สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง แต่ก็มีโอกาสสัมผัสกับคนในครอบครัวที่ไปสัมผัสกับบุคคลภายนอก แม้การป้องกันตนเองโดยวิธีการต่างๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ก็ไม่สามารถลดโอกาสติดเชื้อลงเหลือศูนย์ได้ หากยังมีการติดต่อกับโลกภายนอกอยู่ เนื่องจากมีช่องทางที่ทำให้ติดเชื้อได้จำนวนมาก และเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวความน่ากลัวของโรคโควิดที่ทำให้จัดการได้ยากคือ ผู้ได้รับเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ ทำให้เป็นผู้แพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว โรคจึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
 
ดังนั้นข้อสรุปที่สมเหตุสมผลในที่นี้คือควรเลือกที่จะฉีดวัคซีน เพราะทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเช่นปัจจุบัน ในขณะที่โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนต่ำกว่าโอกาสเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อมาก และผลเสียจากผลข้างเคียงต่ำกว่าจากการเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงหากป่วยโดยไม่ได้รับวัคซีนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ป่วยเกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุข เนื่องจากมีโอกาสในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหากป่วยโดยไม่ได้รับวัคซีน หากมองในภาพรวมสังคม หากทุกคนเลือกที่จะฉีดวัคซีน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสามารถลับเข้าสู่ภาวะใกล้ปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนก่อนคือผู้ที่มีโอกาสเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อมาก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีโอกาสรับเชื้อสูง เช่น บุคลากรการแพทย์ บุคลากรที่ต้องสัมผัสกับบุคคลจำนวนมาก ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด เป็นต้น โดยปกติการทดสอบวัคซีนจะกระทำในกลุ่มผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีผลการทดสอบที่ทำให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก ปัจจุบันกำลังทำการศึกษา จึงควรระมัดระวังไม่ให้เด็กได้รับเชื้อในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
 
สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามต่อไปคือ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงจากเชื้อโควิดที่มีการกลายพันธุ์ได้มากน้อยเพียงใด และจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้ทันกับการกลายพันธุ์ของเชื้อได้รวดเร็วเพียงใด รวมทั้งคอยติดตามผลข้างเคียงในระยะยาวของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้น การพัฒนาและการกระจายวัคซีน การระมัดระวังพฤติกรรมส่วนบุคคล และการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลกระทบด้านสุขภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
.
 
 
หมายเหตุ …
… ความคิดเห็นหรือข้อสรุปในบทความนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความ ดังนั้นจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หากมีข้อมูลใหม่ที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์ …
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และ พญ.กัลยรัตน์ สุขเรือง
19 พ.ค. 2564

Leave a Reply

Your email address will not be published.