จีนเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

สถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศในขณะนี้อยู่ในช่วงของการทุ่มแรงเพื่อประคองตัวภายใต้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การทุ่มแรงในรอบนี้คงไม่สามารถทำไปเรื่อย ๆ ได้ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ เป็นเหตุให้ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องหาวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้

มากกว่านั้นสำหรับประเทศไทยที่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยต้องทุ่มแรงมากขึ้นอีก เพื่อป้องกันสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้น ทั้งความเสี่ยงจากปัญหาทางการเมือง ภัยธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จากความจำเป็นที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่ปกติ และสำหรับความเสี่ยงในภาคการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาผมขอชมภาคการเงินไทยที่ตั้งใจพยายามยืนอยู่บนความไม่เสี่ยงเมื่อยังไม่แน่ใจ โดยทาง ธปท. มีการกำกับด้านความเสี่ยงและการเตรียมแผนสำรองทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความหวัง แม้เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยการสร้างความร่วมมือกับประเทศจีน ผ่านลักษณะของความเป็นประเทศญาติมิตร เพราะคนไทยประมาณ 7-8 ล้านคน มีเชื้อสายจีน ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีของจีนได้เข้ามาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย และสอดคล้องกับการที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับคนจีนโพ้นทะเลที่อยู่ทั่วโลก ดังนั้นไทยควรใช้โอกาสนี้พัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับประเทศจีนที่กำลังดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ผมจึงขอเสนอแนวทางที่จะเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-จีน ดังนี้

แนวทางแรก คือ ?การแก้ไขปัญหาร่วม? เนื่องจากประเทศจีนและไทยมีปัญหาบางเรื่องเหมือนกัน อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหารถติดในเขตเมือง ฯลฯ ดังนั้นนับเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสานสัมพันธไมตรีได้มากยิ่งขึ้น ผ่านเวทีการแก้ไขปัญหาร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ โดยจุดสำคัญเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา และสามารถยกระดับไปสู่การทำสนธิสัญญาในวิธีปฏิบัติบางอย่างร่วมกันได้ ภายใต้ความเหมาะสมของบริบททั้งสองประเทศ

แนวทางที่สอง คือ ?การพัฒนาด้านเกษตรกรรม? เป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า จากความเป็นจุดแกร่งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติของไทย แต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ขณะที่ประเทศจีนมีเงินทุนและมีนโยบายในการสนับสนุนการบริโภคสินค้าเชิงเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีนโยบาย ?เกษตรสมัยใหม่? (new agriculture) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2554-2555) ทำให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปได้อย่างรวดเร็ว อาทิ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงพันธุ์ เทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติด้านเกษตรกรรม เป็นต้น ดังนั้นการสร้างความร่วมมือจะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยี ตลอดจนความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale)

แนวทางที่สาม ?การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศ? เนื่องจากจีนต้องการมีอิทธิพลในอาเซียน และพัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้ของจีน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมุ่งเน้นให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคอาเซียนได้ง่ายขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างมณฑลทางภาคใต้ของจีนกับอาเซียน อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิง จีน ผ่านเชียงราย ไปสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ และโครงการแพนเอเชีย (The Pan-Asia Railway Network) เป็นต้น

แนวทางที่สี่ ?ความร่วมมือทางการเงิน? จากนโยบายของประเทศจีนที่ต้องการให้เกิดธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศผ่านเงินหยวนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายยกรับดับสกุลเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งพบว่าในเดือนตุลาคม 2556 การทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนได้เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 8 ของโลก จากในปี 2555 อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก ไทยสามารถส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการค้าผ่านสกุลเงินหยวนมากขึ้น และสร้างความร่วมมือทางการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) เช่น การพัฒนาโครงข่ายการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศไทย-จีน การลดข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายเงินทุน การลดอัตราค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินไทย-จีน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่สถาบันการเงินไทย อาทิ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดวงเงินค้ำประกันเงินฝากระหว่างธนาคาร เป็นต้น

แนวทางที่ห้า คือ ?การพัฒนาทักษะภาษาจีนให้เป็นภาษาที่สาม? อาทิ การจัดโครงการนักเรียนหรือนักศึกษาแลกเปลี่ยนไทย-จีน หรือโครงการบุคลากรแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรธุรกิจไทย-จีน ทั้งนี้เพื่อลดอุปสรรคด้านภาษา และเป็นการเสริมศักยภาพให้กับองค์กรในการทำธุรกิจระหว่างไทย-จีน

แนวทางที่หก คือ ?การพัฒนาการท่องเที่ยวไทย-จีน? ปัจจุบันพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด คือ ประเทศจีน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปี 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนตลอดทั้งปี 2556 จะมีจำนวน 4.5-4.7 ล้านคน ดังนั้นจึงควรมีแนวทางความร่วมมือที่จะสามารถยกระดับไปสู่การวางมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยสามารถรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวได้อย่างเป็นรูปธรรม

แนวทางสุดท้าย คือ ?ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนในระยะยาว? จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนส่งผลต่อความต้องการพลังงานที่สูงขึ้นมาก ปัจจุบันจีนจึงได้กำหนดให้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ และเริ่มดำเนินการค้นหาแหล่งพลังงานหลักจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต ปัจจุบันจีนมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และจีนมีเป้าหมายขยายไปสู่การผลิตพลังงานชีวมวลแต่คงมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่ประเทศไทยมีจุดแกร่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือกับจีน โดยประเทศไทยควรเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานและสามารถส่งออกพลังงานทดแทนได้

หากแนวทางความร่วมมือข้างต้นประสบผลสำเร็จและมีความต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทั้งเศรษฐกิจไทยและจีนอย่างมาก และในทำนองเดียวกันประเทศไทยยังสามารถหาช่องทางในการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันด้วยเช่นกัน

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.dailynews.co.th/imagecache/670×385/cover/468127.jpg