จัดการศึกษาสร้างผลกระทบเชิงผลลัพธ์ : กรณี Harvard Campaign

การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยนอกจากการคำนึงถึงผลผลิตที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนโครงการที่ทำสำเร็จ แล้ว การคำนึงถึงผลลัพธ์ควรเป็นความสำคัญอันดับแรกของการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการ เช่น การมีส่วนช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น มิฉะนั้นแม้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมจะมีผลผลิตเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่อาจไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจทั้งผลผลิตและผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างโครงการ Harvard Campaign ที่อดีตอธิการบดีคนที่ 28 ของฮาร์วาร์ด ดรูว์ กิลพิน เฟาสท์ (Drew Gilpin Faust) ริเริ่มให้มีขึ้นใน ปี ค.ศ. 2013 รวมระยะเวลาการดำเนินโครงการยาวนานกว่า 5 ปี

โครงการ Harvard Campaign ในช่วงของดรูว์ กิลพิน เฟาสท์ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของฮาร์วาร์ดที่สร้างให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ล่าสุดที่ผ่านมาแหล่งข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุถึงผลกระทบดังกล่าวนี้ว่ามีผู้บริจาคให้กับโครงการฯ มากกว่า 153,000 ครัวเรือนจาก 173 ประเทศทั่วโลก และเป็นของขวัญมากกว่า 633,000 ชิ้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นพียงส่วนเล็กน้อยของผลการดำเนินทั้งหมดของโครงการฯ

การดำเนินงานของโครงการ Harvard Campaign มีอยู่มากมายหลายส่วนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนทางด้านวิชาการและการวิจัยของฮาร์วาร์ด เช่น การช่วยเปิดประตูการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น การสนับสนุนและขยายการช่วยเหลือทางการเงิน การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาทุกสาขาวิชา การมีส่วนสนับสนุนคณาจารย์และนำนักวิชาการใหม่เข้าสู่แต่ละสาขาวิชา เป็นประโยชน์ทั้งต่อการทำงานของอาจารย์รุ่นใหม่ (junior faculty) นักวิชาการ (tenured scholar) และนักวิจัย ของฮาร์วาร์ด กระตุ้นให้เกิดการทำงานข้ามศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรม การพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพของมหาวิทยาลัย และอื่น ๆ เป็นต้น[1]

นอกจากผลผลิตของโครงการฯ ที่เกิดขึ้นและความสามารถในการระดมทุนและความร่วมมือแล้ว โครงการฯ ยังสร้างให้เกิดผลลัพธ์อย่างสำคัญทางวิชาการ กระตุ้นให้เกิดการทำงานข้ามศาสตร์ ส่งเสริมความเจริญงอกงามทางด้านสติปัญญาและวิทยาการแขนงต่าง ๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเตรียมฮาร์วาร์ดให้พร้อมสำหรับอนาคตอีกด้วย

กรณีมหาวิทยาลัยไทย  ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ มีการกำหนดนโยบายและจัดทำโครงการที่มุ่งเพื่อการพัฒนาผู้เรียน งานวิจัย และมหาวิทยาลัย โดยมีการวัด ผลลัพธ์หรือผลกระทบของทุกกิจกรรมหรือโครงการร่วมด้วย เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัย อันสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการสนใจเพียงผลผลิตของกิจกรรมหรือโครงการเท่านั้น ครับ

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/09/the-harvard-campaign-concludes-provides-enduring-investment/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ 19 – พฤหัสบดี 25 ตุลาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.